(เพิ่มเติม) COVID-19: ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากศูนย์กักขังสงขลา ,เสียชีวิตอีก 1 ราย

ข่าวทั่วไป Saturday April 25, 2020 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 53 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,907 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,547 ราย กลับบ้านเพิ่มขึ้นอีก 57 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 309 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 51 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันซึ่งเป็นผู้ป่วยในครอบครัว ที่มีทั้งหมด 4 รายที่ติดเชื้อ ได้แก่ น้องชาย ที่ทำงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ น้องสะใภ้ พ่อ และแม่ โดยผู้ป่วยได้เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ และได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ผลตรวจปกติ จึงได้ยากลับไปทานที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงได้เข้ารับการรักษาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 เม.ย. ด้วยอาการไข้ 40 องศาเซลเซียล หายใจลำบาก จึงส่งตรวจหาเชื้อ ผลตรวจยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ต่อมาวันที่ 16 เม.ย.อาการแย่ลง แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย. ด้วยภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว

ยอดผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นจำนวน 53 รายนั้น แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ จำนวน 3 ราย , ผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ และไปในสถานที่ชุมนุมชนต่าง ๆ จำนวน 1 ราย , การค้นหาเชิงรุกในชุมชน (ยะลา) 7 ราย และศูนย์กักขัง ตรวจคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จ.สงขลา 42 ราย โดยในส่วนที่ศูนย์กักขัง เป็นชาวเมียนมา 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 ราย อินเดีย 1 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักขัง ทั้ง 42 ราย ร่างกายยังแข็งแรงดี เพราะเป็นวัยแรงงาน และอาการต่าง ๆ ยังไม่มาก แต่หลังจากนี้ก็จะมีการนำเครื่องเอกซเรย์ปอดเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกว่าแต่ละรายมีอาการเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมในการดูแลแรงงานเหล่านี้ด้วย

"ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากในวันนี้ จะพบว่ามาจาก 2 ส่วน คือ ถ้าเป็นตัวเลขเดิมที่รายงานกันทั่วประเทศคือ 11 ราย และมาบวกรวมกันกับการทำ active case finding หรือการหาเชิงรุกซึ่งพบในศูนย์กักขังของผู้ที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสงขลา จำนวน 42 ราย รวมกันแล้วเป็น 53 ราย...เรากำลังดีใจกันอยู่ว่าเป็นความร่วมมือของประชาชนที่ทำให้ตัวเลขเรากดต่ำลงมาก่อนหน้านี้มีตัวเลข 2 หลักเท่านั้น ถ้าวันนี้ยังแยกเป็น 11+42 ก็ยังภูมิใจในตัวเลข 11 ได้"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับยอดผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจากศูนย์กักขังตรวจคนเข้าเมือง มาจากนโยบายของผู้อำนวยการศูนย์ศบค. ที่เห็นข่าวจากสิงคโปร์ที่พบแรงงานในพื้นที่เกิดการติดเชื้อ จึงได้ให้นโยบายเชิงรุกเพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงเป็นการเฉพาะมากขึ้น รวมถึงสอดคล้องกับการประกาศพื้นที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายอีก 5 พื้นที่ ได้แก่ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และ เมียนมา จากเดิมที่มีเพียง 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ จีน อิตาลี และอิหร่าน ทำให้เกิดกระบวนการที่จะเข้าไปค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มผู้ป่วยใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. จนถึงปัจจุบัน พบว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่ที่มาจากกลุ่มคนเดินทางจากต่างประเทศ สนามมวย สนามบันเทิง หรือสถานที่แออัดต่าง ๆ หายไประยะหนึ่งแล้ว สืบเนื่องจากที่ทางการไทยมีมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในการดูแลสถานการณ์ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางการก็จะเดินหน้าเพื่อหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่มาของการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในศูนย์กักขังในจ.สงขลา ครั้งนี้

ขณะที่ปัจจุบันยังคงมี 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และอีก 1 จังหวัด คือ สตูล เป็นจังหวัดที่มีผู้ปวยเฉพาะในสถานที่กักกันตัวของรัฐ (State Quarantine)

ส่วนมาตรการที่จะนำคนไทยกลับประเทศนั้น ในวันนี้มีนักศึกษาจากอิหร่าน กลับมาจำนวน 21 ราย ,พระภิกษุ แม่ชี และผู้ปฏิบ้ติธรรม จากอินเดีย จำนวน 171 ราย และในวันพรุ่งนี้จะมีนักเรียน นักศึกษา คนงาน และนักท่องเที่ยว จากออสเตรเลีย จำนวน 212 ราย ซึ่งทุกรายจะต้องเข้าพักในสถานที่กักกันตัวของรัฐ นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมด้านการขนส่ง ขนถ่ายสินค้าบริเวณด่านพรมแดน เพื่อให้การขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจด้วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจะผ่อนคลายให้กิจการต่าง ๆ กลับมาดำเนินการนั้น คงต้องพิจารณาจากปรากฎการณ์และสถิติชุดข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าสถานที่มีการสังสรรค์ แหล่งบันเทิง สนามมวย ก็ไม่น่าจะยังได้เปิด แต่กิจกรรมใด ๆ ที่มีการเว้นระยะห่างทางกาย หรือ social distancing ก็น่าจะได้รับการยินยอมให้เปิดได้ อย่างไรก็ตามภาคผู้ประกอบการก็สามารถนำเสนอแนวทางและมาตรการดูแลให้กับทางภาครัฐประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนการที่แต่ละจังหวัดได้มีการผ่อนปรนการล็อกดาวน์นั้น ก็จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ใหญ่ภายใต้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย โดยจะต้องไม่ย่อหย่อนกว่ามาตรการใหญ่ที่กำหนดออกมา ซึ่งแต่ละจังหวัดสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสถานการณ์

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพความเป็นจริง เมื่อสิงคโปร์ก็เกิดขึ้นแบบนี้จากหลักที่ไม่สูงมากมาเป็นหลักหมื่น ก็เพราะการแพร่กระจายของแรงงานต่างด้าวในประเทศสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในไทยด้วยแล้วตอนนี้ เรามีหน้าที่ต้องเรียนรู้จากต่างประเทศ เราได้เข้าไปสแกนหา ถ้าเจอก็รีบรักษา จะเป็นตัวเลขอะไรอย่างไรเท่าไหร่ ลักษณะอย่างนี้ผู้บริหารของศูนย์ในทุกระดับมีการเปิดเผยตัวเลขความเป็นจริง ไม่มีการปกปิด เพาะการเปิดเผยมากที่สุดจะนำมาสู่ความร่วมมือมากที่สุด"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ