(เพิ่มเติม) COVID-19: นายกฯ ถกศบค.พิจารณาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยันต้องมีมาตรการคู่ขนานก่อนผ่อนปรน/วธ.เสนอข้อปฏิบัติวันวิสาขบูชา

ข่าวทั่วไป Monday April 27, 2020 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. โดยมีคณะรัฐมนตรี หน่วยงานด้านความมั่นคง การสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารืออย่างพร้อมเพรียง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมเชิงบูรณาการวันนี้ถือเป็นการหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีมากในระดับหนึ่ง ได้รับการยอมรับทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง และที่ต้องมีการพิจารณาวันนี้คือเรื่องการต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการปรับข้อกำหนดให้มีการผ่อนผันจะต้องให้มีเวลาเตรียมการและมีมาตรการคู่ขนานด้านการสาธารณสุข ต้องดูแลก่อนช่วงที่จะมีการปลดล็อก

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มา 1 เดือนเต็มนั้น ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นกรรมการ แต่ก็มาเป็นที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือ วันนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอที่ส่งมายังภาครัฐ เป็นความร่วมมือของประชาชนจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ซึ่งสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากที่มีการแพร่ระบาดหลังจากนี้

"สิ่งที่ผมจะขอความเห็นชอบจากที่ประชุมในวันนี้ คือแนวทางการผ่อนปรนภายหลังจากที่มีการขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยแผนต่างๆ จะยึดตามหลักการสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก เป็นหลักในการดำเนินการ สิ่งที่ผมเป็นกังวลก็คือเรื่องการเยียวยาที่หลายฝ่ายไม่เพียงพอ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โดยที่ประชุมฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินการของแต่ละด้านที่สำคัญ ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์ทั่วโลก สถิติในวันที่ 27 เม.ย.63 มีผู้ป่วยเกือบ 3 ล้านคน ไทยอยู่อันดับที่ 58 ของโลก โดยมีผู้ป่วยลดลงจนเหลือจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันเป็นเลขตัวเดียวในวันนี้เป็นวันแรกตั้งแต่มี ศบค. รวมทั้งพัฒนาการตรวจหาการติดเชื้อ จำนวนคนที่ได้รับการตรวจ ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก เพื่อให้พบผู้ป่วยเร็วขึ้นและตรวจได้มากขึ้น โดยจังหวัดที่ตรวจมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ แต่กระทรวงสาธารณสุขจัดให้กระจายการตรวจให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชายแดนใต้

ทั้งนี้ WHO เตือนว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาจติดเชื้อได้อีก ซึ่งจากการคาดการณ์และประเมินถือว่าไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดี ควบคุมการระบาดได้ หากยังใช้มาตรการเข้มข้นต่อไป แต่สามารถอนุญาตให้เปิดภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินกิจการได้ โดยต้องมีแนวปฏิบัติ และการควบคุมที่ชัดเจน

ส่วนการประเมินผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงที่ผ่านมา โดยพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานสรุปสถานการณ์การปฏิบัติตามข้อสั่งการของผู้อำนวยการ ศบค. แต่เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอาจพิจารณาขยายการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน และพิจารณาคงมาตรการที่สำคัญและจำเป็น ได้แก่

1.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ขยายการห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน (1-31 พ.ค.63)

2.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น

3.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.

4.งดการดำเนินกิจกรรมที่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมาก งดการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว

เลขาธิการ สมช. ยังได้เสนอแนวทางการผ่อนปรนภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.มีอำนาจในการกำหนดการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้เกิดมาตรฐานของประเทศ และมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการทุกจังหวัดกำหนดรายละเอียดการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ตามสภาพปัญหา ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และการได้รับความร่วมมือจากประชาชน

นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับการผ่อนปรนข้อกำหนดและมาตรการสำหรับกลุ่มต่างๆ และจัดทำคู่มือสำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจัดทำแอพพลิเคชั่นในการอำนวยความสะดวก และสำหรับประชาชนเพื่อให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการว่าควรไปใช้บริการหรือไม่

ในส่วนของคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย ได้รายงานองค์ประกอบคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ว่า ได้มีการหารือและกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ของความพร้อมการเปิดสถานที่ โดยกำหนดตามปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความหนาแน่น การระบายอากาศ การกำหนดกลุ่มสถานที่ประกอบการ โดยได้เสนอจัดเป็นกลุ่มความเสี่ยงตามสี คือ ขาว เหลือง เขียว แดง จะจัดให้เปิดตามความพร้อม และปัจจัยองค์ประกอบ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ซึ่งทั้งหมดจะมีการหารือเพื่อจัดทำข้อสรุปอีกครั้งในบ่ายวันนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมการพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ และให้นำเรื่องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือนเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งยังคงจำเป็นต่อการจำกัดการแพร่ระบาดโรค ส่วนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งที่ประชุมได้เสนอความเห็น และอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงผลดี ผลกระทบในการพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าว โดยได้นำเหตุการณ์ ผลจากการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง มาร่วมพิจารณา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยศึกษาตามสถานการณ์ของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ และผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยต้องพิจารณาเรื่องการควบคุมโรค ควบคุมการระบาดด้วย

สำหรับกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ากิจกรรมใดยังสามารถยังจัดกิจกรรมได้ โดยขอให้แต่ละภาคส่วนกำหนดมาตรการให้ชัดเจนและนายกรัฐมนตรีได้ให้หลักการว่า อยากให้ทุกจังหวัดเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุดที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีรายได้ แต่หากส่วนไหนที่ยังไม่พร้อมอาจจะพิจารณาเป็นกรณี

สำหรับมาตรการทำงานที่บ้านให้กำหนดเป็นมาตรการที่ยังดำเนินต่อไป ในด้านการศึกษายังคงต้องให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 คือให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พ.ค.63 เป็นวันที่ 1 ก.ค.63 แต่ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเยาวชน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยก่อนการประชุมว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะมีการรับฟังและประเมินสถานการณ์จากฝ่ายสาธารณสุขและด้านความมั่นคง ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมจะมีข้อเสนอซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ซึ่งก็จะเสนอให้งดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากไม่รวมตัวกัน

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงจะพิจารณาและประเมินดูตามกลุ่มจังหวัดต่างๆโดยเฉพาะจังหวัดที่มีการผ่อนคลายมาตรการลงบ้างแล้วก็อาจจะอนุญาตให้จัดกิจกรรมในเรื่องการเวียนเทียนซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาได้ โดยต้องมีระยะห่าง แต่ทั้งหมดก็จะขอฟังข้อมูลและการประเมินสถานการณ์จากสาธารณสุขก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ