COVID-19"ธีรยุทธ"มองวิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อ แนะรัฐบาลปรับกระบวนทัศน์การบริหารปท.

ข่าวทั่วไป Wednesday July 15, 2020 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการด้านสังคมวิทยา กล่าวในหัวข้อ "Post COVID-19 กับอนาคตสังคมไทย" ว่า การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่น่าจะคลี่คลายไปในเวลาอันรวดเร็วจนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนออกมาใช้งานได้ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อยราว 2 ปีถึง 2 ปีครึ่ง และสถานการณ์ในอีก 4 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจากปัจจุบันอีกเท่าตัว กว่าจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้งานได้คาดว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ้มเป็น 30-40 ล้านคน

"ปัญหาโควิดคงไม่จบง่ายๆ พอสถานการณ์คลี่คลายแล้วเริ่มคลายล็อกก็เกิดปัญหาปะทุขึ้นมากอีก สลับสับกันไปเป็นระยะๆ อีกนาน อย่างน้อยอีก 2 ปีหรือ 2 ปีครึ่ง โลกจึงจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ" นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไป ได้แก่ 1.ยังขาดผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ 2.ความสามารถทางการแพทย์แต่ละประเทศมีความเหลื่อมล้ำ 3.วัฒนธรรมท้องถิ่นแตกต่างกัน ประเทศทางตะวันตกยังเน้นเรื่องปัญเจกบุคคล มองเรื่องการใส่หน้ากากเป็นเรื่องขี้ขลาด 4.ความยากจน โดยเฉพาะประเทศในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียใต้ที่มีความล้าหลังทางการแพทย์

สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยคาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาฟื้นตัวในปี 64 ส่วนการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวช่วงกลางปี 64 และเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงปลายปี 64 แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปพึ่งพาการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวและบริการ แม้การแก้ปัญหาอาจยากลำบากแต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นเศรษฐกิจพังทลาย

"การเปิดประเทศคงไม่ง่าย ต่างประเทศตายวันละ 40-50 คนยังไม่รู้สึกอะไร แต่บ้านเราแค่เชื้อแว่บเข้ามานิดเดียวก็ปิดประเทศแล้ว ความรู้สึกเราต้องปลอดเชื้อเท่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้" นายธีรยุทธ กล่าว

ตนเองมีข้อเสนอให้ผู้บริหารประเทศปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดใหม่ (New Paradigm) ในการบริหารประเทศ นอกเหนือจากการใช้วิถีชีวิตแนวใหม่ (New Normal) เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางเดิมไม่ได้แล้ว การใช้กู้จาก พ.ร.ก.ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์

"การเดินทางระหว่างประเทศคงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ รูปแบบการค้าระหว่างประเทศอาจจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้กัน และรัฐบาลควรหาบุคลากรด้านการแพทย์ชุดใหม่เข้ามาเสริมคนเดิมที่เริ่มอ่อนล้า" นายธีรยุทธ กล่าว

ปัญหาโควิด-19 ยังส่งผลกระทบไปยังด้านอื่นๆ ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาการเมือง ซึ่งคาดว่าภายในปี 64 ในต่างประเทศมีโอกาสที่เกิดปัญหาสงครามการเมือง การปฏิวัติ หรือการรัฐประหารได้ สำหรับประเทศไทยนั้นปัญหาโควิด-19 สามารถสร้างพลังทางสังคมให้กลับมาเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องดูแลรักษาเอาไว้เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยจะเห็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการป้องกันการแพร่ระบาดเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แต่การที่ประชาชนทุ่มเทและตั้งความหวังไว้สูงหากรัฐบาลทำผิดพลาดก็จะเกิดผลกระทบรุนแรงเช่นกันเหมือนช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่วนแนวคิดในการรับฟังความคิดเห็นของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่ดี เช่น การไปพบปะกับนักธุรกิจ แต่ยังไม่เห็นผลในทางรูปธรรมมากนัก


แท็ก COVID-19:   โควิด-19   Covid-19  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ