ป.ป.ช.จัดทำโครงการเฝ้าระวังการทุจริตงบ พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนลบ.แก้ปัญหาโควิด

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2020 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางป้องกันการทุจริตจากการใช้งบของ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทที่กำลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้เปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องด้วย

การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต 928 แห่งทั่วประเทศ พบว่า 75% ของพื้นที่ทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน โดยมีความเสี่ยงในระดับที่เป็นไปได้สูงมาก 13% มีความเป็นไปได้สูง 35% และมีความเป็นไปได้ปานกลาง 48%

"ยังไม่ใช่การกระทำผิด แต่เป็นผลการศึกษาที่เราจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ...ก่อนหน้านี้เคยมีการตรวจสอบข้อร้องเรียนแล้วพบการกระทำผิด เช่น การจัดซื้อชุด care set ของ อบต.หลายแห่งที่มีราคาแพงเกินจริง"นายนิวัติไชย กล่าว

อนึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีโครงการ "การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ท่ามการวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19" เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องและแจ้งเบาะแสการทุจริตทั่วประเทศ เพื่อสามารถป้องกัน ป้องปรามยับยั้งการทุจริตนั้น

ผลการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตฯ ซึ่งผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ได้นำมาจัดทำเป็น "แผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping)" ที่จะแสดงผลให้เห็นความเสี่ยงในการทุจริตและระดับความรุนแรงของการทุจริตของ อำเภอ/เขต ในจังหวัด ในครั้งนี้พบว่าจากพื้นที่ทั้งหมด 928 แห่งทั่วประเทศ พบว่า 75% ของพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต โดยมีความเสี่ยงในระดับที่เป็นไปได้สูงมาก 13%, มีความเป็นไปได้สูง 35% และมีความเป็นไปได้ปานกลาง 48% ผลการวิจัยเชิงกรณีศึกษาเรื่องการทุจริตในสถานการณ์วิกฤตฯ พบพฤติการณ์ส่อการทุจริตคือ มีการกักตุนสินค้า/จำหน่ายสินค้าในราคาสูง , มีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การจัดซื้อจัดจ้าง , การเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่เป็นพรรคพวก และมาตรการเกี่ยวกับการเยียวยา โดยปัจจัยเหตุที่ส่งผลคือ ความต้องการที่สินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ , มาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ , การกำหนดคุณสมบัติและราคากลางในการจัดซื้อพัสดุของหน่วยงานของรัฐไม่ครอบคลุมสินค้าจำเป็นในช่วงวิกฤติ , ความไม่สมบูรณ์ของระบบฐานข้อมูลภาครัฐ เป็นต้น ผลการวิเคราะห์และข้อเสนอแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติฯ ทั้งกรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งในกรณีภาวะวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้ผลสรุปจำแนกตามพฤติการณ์การทุจริต ได้แก่ การทุจริตเชิงนโยบายในการบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน , การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง , การทุจริตในการเอื้อประโยชน์ , การทุจริตในการกักตุนสินค้า การค้ากำไรเกินควร , การทุจริตเงินเยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ , การทุจริตสิ่งของหรือเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในรายละเอียดของข้อเสนอแนะในแต่ละพฤติการณ์นั้นจะประกอบด้วยหลักการสำคัญได้แก่ (1) การทบทวนกฎหมายและกำหนดแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน (2) การบูรณาการและเปิดเผยข้อมูลผ่าน "Online Platfrom" (3) การตรวจสอบเชิงรุก (4) การสอดส่องและแจ้งเบาะแส (Watch and Voice)

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติ : กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไปก็จะมีการจัดทำข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ