(เพิ่มเติม) คณะทำงานอัยการฯ ให้แจ้งตำรวจสอบเพิ่มคดี"บอส"หากเป็นหลักฐานใหม่ให้เดินหน้าสั่งฟ้อง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 4, 2020 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ของสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงยืนยันว่าการสั่งสำนวนของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ในคดีดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบอัยการสูงสุดทุกประการ ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงสำนวน แต่ไม่ได้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ตราบใดที่ยังไม่หมดอายุความ ถือว่ายังไม่จบ

นอกจากนี้ ได้มีความเห็นให้พนักงานสอบสอนสอบเพิ่มเติมหลังมีพยานที่มีการกล่าวอ้างกันภายหลังที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งแย้งกับสำนวนเดิมในคดี คือ ในเรื่องความเร็วรถ เนื่องจากในสำนวนพยานทุกรายระบุว่าความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. รวมถึง การพบสารในกระแสเลือด 2 ตัวที่อาจโยงกับโคเคน อาจผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด โดยต้องเข้ากระบวนการสอบสวนเพิ่มเติม หากพบว่าสามารถพิสูจนได้ก็จะดำเนินการให้มีการส่งฟ้องคดี ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ได้เป็นการรื้อคดีใหม่

อนึ่ง ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ คดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.56 เป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี เป็นผู้กล่าวหา โดยมีผู้ต้องหา 2 คน คนที่ 1 นายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส อยู่วิทยา) ผู้ต้องหาที่ 2 ที่พนักงานสอบสวนตั้งเป็นผู้ต้องหามาตั้งแต่ต้นการเริ่มคดี คือ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ

พนักงานสอบสวน กล่าวหา นายบอส ใน 5 ข้อกล่าวหา 1.ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นได้รับเสียหาย 3.หลังจากเกิดเหตุ หลบหนี ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงโดยทันที 4.ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กม.กำหนด และ 5. ขับรถขณะเมาสุรา

ทั้ง 5 ข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนลงความเห็นทางสำนวนเสนอพนักงานอัยการมาว่า เห็นควรสั่งฟ้องข้อหาขับรถชนคนตาย ทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และเห็นควรสั่งฟ้องหลบหนี ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ ไม่แจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที และเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง 2 ข้อหาคือ ขับรถขณะเมาสุรา และขับรถเร็วกว่าอัตราที่กมฎหมายกำหนด

ส่วนด.ต.วิเชียร ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับเสียหาย สั่งไม่ฟ้องเพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า นี่คือสำนวนที่พนักงานสอบสวนเสนอมายังอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ คดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ จึงได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีนี้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด จากนั้นองค์คณะทำงานได้พิจารณาคดีนี้และได้มีความเห็นทางสำนวน ในส่วนขับรถโดยประมาทถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย หลบหนี พนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนเสนอมา

ส่วนข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด ที่พนักงานสอบสวนเห็นควรไม่ฟ้อง พนักงานอัยการเห็นแย้งให้สั่งฟ้องข้อหานี้ และข้อหาขับรถระหว่างเมาสุรา พนักงานอัยการเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนในการสั่งไม่ฟ้อง

สำนวคดีนี้เนื่องจากมีการสั่งไม่ฟ้องบางข้อหา คือ ขับรถขณะเมาสุรา จึงมีการส่งไปตามลำดับชั้น จนถึงระดับอธิบดี โดยสำนวนที่สั่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นจึงส่งต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งพนักงานอัยการ เป็นอันว่าข้อหานี้เป็นอันเสร็จเด็ดขาด

ในส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ที่เสียชีวิตตามระเบียบต้องสั่งยุติดำเนินคดี

นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ กล่าวว่า แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้

โดยคณะทำงานตรวจพบว่าในสำนวนการสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ พบสารหลายตัว ที่น่าสนใจมี 2 ตัวเป็นปฎิกิริยาในร่างกายเกี่ยวกับโคเคน ซึ่งเป็นยาเสพติด แต่ทางทันตแพทย์ระบุว่าอาจเกิดจากการใช้ยาแก้ปวด แต่ทางคณะทำงานไม่เห็นด้วย ก็ต้องเข้ากระบวนการสอบสวนต่อไป

ในเรื่องความเร็วรถ หลังมีผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ความเห็นทางสังคมหลากหลาย จากที่ก่อนหน้านี้ในสำนวนมีการระบุว่าความเร็วของรถอยู่ไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งพิจารณาจากความเสียหายของรถทั้ง 2 คัน ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป แต่ไม่ใช่การรื้อฟื้น

"คำสั่งไม่ฟ้อง ไม่ใช่หมายความว่าไม่ได้ทำความผิด ...ข้อหาขับรถประมาท พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ก็ต้องไปพิสูจน์กัน"

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี กล่าวว่า คดีนี้ไม่ได้บอกว่าคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว เพราะถ้าตามข้อกฎหมายคดีจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือ คดีขาดอายุความไปแล้ว โดยได้ยกตัวอย่างกรณีเพชรซาอุ ที่นำกลับมาสอบสวนใหม่หลังเจอพยานหลักฐานใหม่ ยืนยันว่า เราดูทุกมุมว่ามีความบกพร่องของพยานหลักฐานอย่างไร การพิสูจน์พยานหลักฐานต้องชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ