รมว.แรงงาน เตือนนายจ้างพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติขอใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด

ข่าวทั่วไป Saturday August 29, 2020 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน แต่การอนุญาตสิ้นสุด และยังอยู่ในราชอาณาจักร ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และให้ทำงานได้เป็นการเฉพาะขณะนี้ได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 ฉบับ และมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้นขอย้ำเตือนให้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าวตามมติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ได้แก่

กลุ่มที่ 1) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MoU ซึ่งครบวาระการจ้างงาน 4 ปี

กลุ่มที่ 2) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัวได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (TD) เอกสารรับรองบุคคล (CI) ที่ใบอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562

กลุ่มที่ 3) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MoU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50 มาตรา 53 หรือมาตรา 55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ออกจากนายจ้างรายเดิม แต่หานายจ้างรายใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วัน เป็นต้น

กลุ่มที่ 4) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล โดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ซึ่งครบวาระการจ้างงาน และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด นั้น รีบมาดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึง ขั้นตอนการดำเนินการ ว่า คนต่างด้าวกลุ่มที่ 1-3 สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 - วันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 มีนาคม 2565 หลังจากนั้นคนต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพ /ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (กรณีไม่มีประกันสังคม) และยื่นขอรับการตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 และขั้นตอนสุดท้ายคือ การจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานด้านหลังบัตร กับกรมการปกครอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 - 31 มีนาคม 2564

โดยแรงงานต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่มิได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น เดียวกับคนต่างด้าว MOU และไม่อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง เว้นแต่การออกจากงานเป็นเพราะความผิดของนายจ้างหรือได้ชำระค่าใช้จ่ายให้นายจ้างรายเดิมแล้ว ส่วน คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลบริเวณชายแดน ที่ถือบัตรบัตรผ่านแดน (Border Pass) สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 - วันที่ 31 ตุลาคม 2563 และคนต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพ /ประกันสุขภาพ (กรณีไม่มีประกันสังคม) ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 และแรงงานต่างด้าวไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เว้นแต่การออกจากงานเป็นเพราะความผิดของนายจ้าง หรือได้ชำระค่าใช้จ่ายให้นายจ้างรายเดิมแล้ว โดยสามารถทำงานในตำแหน่งกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน และทำงานได้เฉพาะในท้องที่ที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิมเท่านั้น

"กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ตระหนักถึงความจำเป็นของแรงงานต่างด้าวในประเทศ ซึ่งเป็นกลไกหลักสนับสนุนภาคการผลิตของภาคธุรกิจ และ เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเร่งดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล ที่ได้ผ่อนคลายมาตรการในประเทศที่ให้กิจการและกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินการได้มากขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ