"วิษณุ"ให้ ป.ป.ท.เร่งประสานหน่วยงานรื้อคดีบอส ตามข้อเสนอชุด"วิชา"

ข่าวทั่วไป Thursday September 3, 2020 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือคดีของนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน มาหารือวานนี้ว่า ได้ตกลงแบ่งงานจากที่คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวมีข้อเสนอแนะเร่งด่วนออกมา 5 ข้อ ซึ่งให้ ป.ป.ท.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับคดี คือให้รือฟื้นคดีและดำเนินคดีใหม่ที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะในข้อหาขับรถขณะเสพยาเสพติด ซึ่งยังไม่เคยมีการตั้งข้อหามาก่อน

โดยให้ ป.ป.ท. ส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และที่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในทางอาญาและวินัย ประมาณ 8 กลุ่ม จะแจ้งไปยังหน่วยงานของแต่ละบุคคล เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการอัยการ สภาทนายความ ส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น ป.ป.ท. มีอำนาจในการสอบสวนข้อเท็จจริง

ส่วนเรื่องใดที่เห็นว่ามีมูลการทุจริต จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ ส่วนเรื่องใดที่จะเป็นคดีอาญา จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ โดยคาดว่าวันนี้ ป.ป.ท.จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงาน

ส่วนข้อเสนอที่เกี่ยวกับความรับผิดและความรับผิดชอบนั้น ส่วนนี้อาจจะไปเกี่ยวพันกับนักการเมือง ที่เคยเป็นคณะกรรมาธิการ ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าใครจะเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ จึงต้องส่งเรื่องให้กับประธานรัฐสภาพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

สำหรับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการมอบอำนาจนั้น นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ได้บทเรียนจากกรณีนี้ว่า ข้าราชการทุกฝ่ายรู้จักคำว่ามอบอำนาจ แต่อาจจะเข้าใจคำว่ามอบอำนาจ และความรับผิดชอบในการมอบอำนาจคลาดเคลื่อน เพราะเมื่อมอบอำนาจไปแล้ว ผู้มอบยังจำเป็นต้องติดตามตรวจสอบว่า การดำเนินการนั้นเป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ หรือเรียกว่าไม่ใช่การมอบขาด แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปทำเท่านั้น หรือเป็นการปฏิบัติราชการแทน ตนจึงได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติสำหรับการมอบอำนาจ

ส่วนข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น การที่อัยการสูงสุดมอบให้รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ขณะเดียวกันได้มอบให้รองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่ง ให้สามารถทำการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแทนอัยการสูงสุดได้ แต่คนที่ทำหน้าที่ 2 อย่างนี้ไม่ควรเป็นคนคนเดียวกัน แต่ในคดีของนายวรยุทธ เป็นคนคนเดียวกัน ซึ่งมองว่าไม่เกิดการคานและถ่วงดุลกัน ซึ่งเรื่องนี้ในส่วนของอัยการนั้น สามารถใช้ดุลยพินิจได้ เพราะถือเป็นองค์กรอิสระ แต่ในส่วนของตำรวจ การแย้งหรือไม่แย้งดุลยพินิจของอัยการ ยังไม่เคยมีการจัดทำหลักเกณฑ์ จึงต้องการให้มีการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต

ส่วนข้อสุดท้าย ที่ระบุว่าคดีใดที่เป็นคดีอาญาแล้วผู้ต้องหาหลบหนี ไม่ควรมีอายุความนั้น ในส่วนของคดีทุจริตได้แก้กฎหมาย ให้ไม่ขาดอายุความแล้ว แต่หากมองภาพรวมคดีอาญาทั้งหมด จะต้องพิจารณารอบคอบ เพราะคณะกรรมการฯ ชุดนี้พิจารณาเฉพาะคดีของนายวรยุทธเท่านั้น ยังไม่นำคดีอื่นๆ เข้ามาร่วมพิจารณา จึงต้องถามความเห็นฝ่ายอื่นว่าเห็นด้วยหรือไม่ และต้องส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมศึกษาทั้งระบบ ทั้งนี้ได้ขอให้ ป.ป.ท.รายงานความคืบหน้าต่างๆให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อเนื่อง

นายวิษณุ ย้ำว่า เรื่องใดที่ต้องแก้กฎระเบียบทันที ก็จะดำเนินการ แต่เรื่องใดเป็นการแก้ปัญหาเชิงปฏิรูป ก็จะต้องทำไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ การแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ บางเรื่องมีการกำหนดกรอบเวลา บางเรื่องก็ไม่สามารถกำหนดได้ เช่น เรื่องการสอบสวนบุคคลใน 8 กลุ่ม ต้องมีกรอบเวลา เพราะมีเรื่องการขาดอายุความ แต่ในส่วนการปฏิรูปกฎหมายจำเป็นต้องใช้เวลา

ส่วนที่มีบางคนระบุว่า ควรจะต้องยกเลิกคำสั่งเดิมของรองอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้องคดีก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อคดีไปถึงชั้นศาลนั้น นายวิษณุ ยังไม่ขอให้ความเห็นเรื่องนี้ เพราะยังไม่เคยตรวจดูสำนวน และถือเป็นเรื่องของอัยการจะเป็นผู้พิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ