(เพิ่มเติม) นายกฯ ประชุมศบค.ชุดใหญ่ถกขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-มาตรการเปิดรับนทท. STV

ข่าวทั่วไป Monday September 28, 2020 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ชุดใหญ่ โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ออกไปอีก 1 เดือน

นอกจากนี้จะพิจารณาหลักเกณฑ์การเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ที่ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม และมีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล, แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลตรวจที่ยืนยันว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้วจะต้องมีการกักตัว 14 วัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวก่อนการประชุมถึงมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ว่า ต้องดูที่ตัวเลขการติดเชื้อที่ประเทศต้นทางเป็นหลัก เพราะแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน โดยประเทศที่ควบคุมการติดเชื้อได้ดีก็จะเป็น Travel Bubble คือการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่ไม่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน ถ้าเป็นประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดกลางๆ ก็อาจต้องคุมเรื่องการกักตัว ซึ่งทั้งหมดเพื่อให้การสัญจร และประกอบธุรกิจเดินหน้าไปได้ ภายใต้การทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง

นายอนุทินกล่าวว่า มาตรการต่างๆขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่า จะพิจารณาและมีมาตรการแบบใด ซึ่งจะไม่มีภูเก็ตโมเดล และตอนนี้ คือ ไทยแลนด์โมเดล เพราะไม่เช่นนั้นคนภูเก็ตจะกล่าวหาว่าเป็นจังหวัดหนูทดลองยา

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมทุกด้าน ตั้งแต่มาตรการการควบคุมโรค ป้องกัน และรักษา

สำหรับการเฝ้าระวังโควิด-19 ระลอก 2 มีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ซึ่งการมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้การควบคุมและป้องกันโรคทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่การริดรอน หรือ เพื่อหวังผลทางการเมือง เช่น ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การจับกุมผู้ลักลอบเข้าประเทศก็อาจทำได้ไม่สะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาด และควบคุมได้ยาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ