(เพิ่มเติม) ศาลฎีกาฯ อนุมัติออกหมายจับ"ทักษิณ-พจมาน"/อัยการคาดไม่ย้ายออกจากอังกฤษ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2007 18:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง อนุมัติให้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร หลังจากบุคคลทั้งสองไม่มาแสดงตนในฐานะจำเลยคดีการทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกที่ศาลนัดเป็นครั้งแรก โดยทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากจำเลยเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย และเพื่อความสมานฉันท์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศ โดยจำเลยทั้ง 2 คนขอต่อสู้คดีช่วงหลังการเลือกตั้ง แต่ไม่เป็นผล
นายเศกสรร บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะอัยการโจทก์ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(15 ส.ค.) เวลา 10.00 น. จะไปรับหมายจับของศาลเพื่อส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ดำเนินการตามหมายจับต่อไป อย่างไรก็ดีศาลได้นัดฟังผลการดำเนินการออกหมายจับและเลื่อนนัดการพิจารณาคดีครั้งแรกไปเป็นวันที่ 25 ก.ย.50
ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ศาลฎีกาเห็นชอบตามที่อัยการแถลงทั้งกรณีของการส่งหมายตามที่อยู่ในภูมิลำเนา รวมถึงกรณีที่จำเลยอ้างว่าการไม่เดินทางมาฟังคำแถลงเปิดคดีวันแรกเป็นเพราะเกรงปัญหาความไม่ปลอดภัยและต้องการให้เกิดความสมานฉันท์นั้น ถือว่าข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ
"ในกรณีที่จำเลยไม่มาศาลตามที่กำหนด ศาลต้องพิจารณาเพื่อให้การดำเนินคดีนี้สามารถดำเนินการได้ เมื่ออัยการแถลงว่ามีเหตุที่จำเลยต้องมา และเหตุที่จำเลยไม่มาก็ไม่ใช่เหตุอันสมควร ศาลก็ออกหมายจับได้ ศาลสั่งในรายงานเลยว่าในกรณีนี้ให้ออกหมายจับ และให้เลื่อนวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นวันที่ 25 ก.ย. เวลา 10.00 น. เพราะฉะนั้นศาลจะสั่งอะไรก็คงต้องรอ 25 ก.ย.ว่าอัยการได้หมายจับไปแล้ว จะสามารถนำจำเลยมาศาลได้หรือไม่" นายอรรถพล กล่าวในรายการวิทยุเย็นนี้
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เชื่อว่า ทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะไม่หลบหนีไปอยู่ประเทศอื่น โดยจะยังคงพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีข้อกฎหมายที่เข้มแข็งในเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งต่างจากจีนหรือสิงคโปร์
"ท่านคงไม่ไปจีนหรือสิงคโปร์ เพราะ 2 ประเทศนี้การส่งผู้ร้ายข้ามแดนง่ายกว่าที่อังกฤษ ผมคาดเลยว่าท่าน(พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน) ไม่ออกจากอังกฤษ แต่ถ้าออกไปในประเทศที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ง่ายๆ แล้ว เสร็จเรา" นายอรรถพล กล่าว
ทั้งนี้ พนักงานอัยการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการทำหน้าที่เรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งประเทศอังกฤษมีข้อตกลงกับไทยมานานมาก โดยการใช้วิธีทางการทูตผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า บทสรุปของคดีคงไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด แต่พนักงานอัยการจะพยายามทำให้เร็ว หลังจากกระทรวงต่างประเทศแจ้งมาแล้วว่าจำเลยทั้ง 2 คนพำนักอยู่ที่ประเทศใด
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ หากเป็นเรื่องการเมืองจะไม่มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้นจำเลยอาจจะหยิบยกเรื่องนี้มาต่อสู้ก็เป็นได้
"ตอบไม่ได้ว่าใช้เวลานานแค่ไหน แต่พนักงานอัยการสามารถทำได้เร็ว หลังจากกระทรวงต่างประเทศแจ้งแล้วว่าอยู่ที่ใด เราก็จะดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศนั้น แต่ที่ผมบอกว่าคาดไม่ได้ เช่น คดีราเกซ 10 ปีแล้วยังไม่ได้ตัวมาเลย" นายอรรถพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ