กรมอนามัย แนะ 6 วิธีลดฝุ่น PM 2.5 แม้แนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้นช่วง 17-24 ธ.ค.

ข่าวทั่วไป Wednesday December 16, 2020 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมอนามัย แนะ 6 วิธีลดฝุ่น PM 2.5 แม้แนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้นช่วง 17-24 ธ.ค.

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 พบว่า เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรปราการ โดยพบค่าสูงสุดที่ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม และมีแนวโน้มลดลงในทุกพื้นที่เนื่องจากลมพัดแรงขึ้น โดยคาดว่าในช่วงวันที่ 17- 24 ธันวาคม 2563 สถานการณ์ฝุ่นจะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และบางพื้นที่อยู่ในระดับปานกลางและดี ตามลำดับ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าค่าฝุ่นละอองจะเริ่มลดลง แต่ประชาชนก็ยังคงดูแลใส่ใจสุขภาพตนเองอยู่เสมอ พร้อมทั้งสามารถช่วยกันลดแหล่งสะสมของฝุ่นได้ด้วย 6 วิธีง่ายๆ ดังนี้ 1) หมั่นทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดหยากไย่ ฝุ่นละออง หรือ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน โดยเช็ดถูทำความสะอาดพื้นและตามซอกมุมต่างๆ เพื่อป้องกันการ ฟุ้งกระจายของฝุ่น รวมทั้งล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศและมุ้งลวดให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้ง ห้องนอนซึ่งเป็นที่ซ่อนไรฝุ่นด้วยการซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่มและพรมเช็ดเท้าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ที่สำคัญ ขณะทำความสะอาดควรสวมถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง เพื่อช่วยป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายได้

2) ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยให้ใช้รถสาธารณะ 3) เช็กสภาพรถเป็นประจำ และดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถทุกครั้ง 4) งดเผาขยะ ใบไม้ 5) งดจุดธูป เปลี่ยนมาใช้ธูปสั้น หรือธูปไฟฟ้า และ 6) ปลูกต้นไม้ที่มีใบหยาบและมีขน เพราะใบไม้แบบนี้มีประสิทธิภาพในการดักฝุ่นสูง เช่น ตะขบฝรั่ง เถากันภัย เล็บมือนาง พวงประดิษฐ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนออกจากบ้านประชาชนยังคงต้องสวมหน้ากากป้องกันและติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ด้วยการดูค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น "Air4thai" ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ "คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5" ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่เสมอ เพื่อดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวีด แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศรีษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ