นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ของนายเตชินท์ พลอยเพชร หรือ "ดีเจมะตูม"ว่า ได้มีการแจ้งไทม์ไลน์อย่างละเอียด ทำให้เกิดประโยชน์ในการสอบสวนโรค สามารถติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงเพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้รู้ว่าได้รับเชื้อเมื่อวันที่ 9 ม.ค.64 เพราะฉะนั้นคนสัมผัสก่อนหน้านั้นไม่มีความเสี่ยง ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงคือตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.เป็นต้นไป แต่ที่เสี่ยงมากสุดคือช่วงวันที่ 17-19 ม.ค.64 โดยพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ มีการไอจามใส่กัน พูดคุยใกล้ชิดนาน 5 นาที อยู่ในห้องอากาศไม่ถ่ายเทนาน 15 นาที แต่หากใส่หน้ากากอนามัยจะมีความเสี่ยงน้อยลง ซึ่งผู้สัมผัสสูงต้องกักตัวสังเกตุอาการ และมีการตรวจหาเชื้อสองครั้ง
ส่วนกรณีที่นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ หรืออาจารย์ยิ่งศักดิ์ เป็นผู้สัมผัสกับดีเจมะตูมแล้วมาร่วมกิจกรรมของกระทรวงศึกษาธิการนั้น อ.ยิ่งศักดิ์ได้ตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบเชื้อ ดังนั้นผู้ที่สัมผัสกับ อ.ยิ่งศักดิ์ เช่น น.ส.กนกวรรณ วิลาวัณย์ รมช.ศึกษาธิการ ไม่มีความเสี่ยง สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ไม่ต้องกักตัว
"กิจกรรมเสี่ยงที่พบการติดเชื้อบ่อย คือ การรับประทานด้วยกัน เราเห็นมาจากหลายเหตุการณ์ เช่น ปาร์ตี้บิ๊กไบค์ งานเลี้ยงดีเจมะตูม เพราะเวลารับประทานอาหารไม่สวมหน้ากาก นั่งไม่ห่างกันมากนัก มีการพูดคุยกัน ในออฟฟิศก็ควรงดการรับประทานอาหารร่วมกันหลายคน และพูดผ่านหน้ากากอนามัย" นพ.โอภาส กล่าวนพ.โอภาส กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 63 จังหวัด แต่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อแค่ 21 จังหวัด ขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประชาชน ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายมีเพิ่มมากขึ้นช่วยให้สถานการณ์เรื่อง รพ.สนาม คลี่คลายไปได้ ขณะที่อัตราป่วยตายในระลอกสองน้อยกว่าระลอกแรกราว 10 เท่าตัว โดยระลอกแรกมีผู้ป่วย 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.42% ส่วนระลอกสองมีผู้ป่วย 8,416 ราย เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.13% เนื่องจากมีความพร้อมเรื่องประสบการณ์ในการรักษา เวชภัณฑ์ที่ใช้ การตื่นตัวที่จะเข้ารับการรักษาเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม การค้นหาเชิงรุกนั้นยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รวมถึงกรณีพบผู้ป่วยรายแรกในการระบาดระลอกใหม่ เช่น ที่จังหวัดนครพนม ที่สามารถสามารถสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วจนสามารถรู้ต้นทางว่าติดเชื้อมาจากใคร ดังนั้นขอให้ผู้ที่เคยมีประวัติเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ทั้งบ่อนและสถานบันเทิงให้ไปเข้ารับการตรวจ และการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" จะช่วยให้การสอบสวนโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น กรณีบุคลากรของ รพ.ศิริราช ที่ติดเชื้อในชีวิตประจำวันสามารถแจ้งเตือนได้ถึง 1,453 ราย
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดให้ประสานหน่วยงานด้านความมั่นคงเฝ้าระวังการลักลอบข้ามแดนภาคใต้หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซียล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,008 ราย
สำหรับประเด็นเรื่องของวัคซีนนั้น ในวันพรุ่งนี้ทางกระทรวงฯ จะมีการแถลงข่าวดีความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
"เรื่องวัคซีนมีคณะทำงานหลายคณะ และกำลังเร่งทำงานกันอยู่ เชื่อว่าพรุ่งนี้จะมีข่าวดีมาแถลงอีกครั้งหนึ่ง" นพ.โอภาส กล่าว