สธ.เฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์หวั่นกระทบประสิทธิภาพวัคซีน

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2021 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีการพบคนไทยรายแรกติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ว่า ในปัจจุบันได้มีคำแนะนำให้มีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสใน 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย 1.สายพันธุ์ B.1.1.7 ที่ระบาดอยู่ในอังกฤษ โดยไวรัสตัวนี้สามารถจับกับเซลส์มนุษย์ได้ดีขึ้น และแบ่งตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว 2.สายพันธุ์ B.1.351 ที่ระบาดอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยไวรัสตัวนี้สามารถหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และอาจมีผลต่อการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยสายพันธุ์ดั้งเดิม และ 3.สายพันธุ์ P.1 ที่ระบาดอยู่ในบราซิล ซึ่งพลาสม่าหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสนี้ได้น้อยลง เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

"ผู้ป่วยชายไทยรายนี้ เดินทางมาจากประเทศแทนซาเนีย ต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย พอถึงไทยได้เข้าพักใน Local Quarantine หลังจากนั้นมีอาการไอ ไข้ต่ำๆ จึงถูกย้ายไปที่ รพ.รัฐบาลแห่งหนึ่ง พอ 4 ก.พ.ตรวจ PCR พบว่าติดโควิด-19 และปอดอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยเดินทางมาจากประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงนำไวรัสไปตรวจที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่เพื่อหาสายพันธุ์ และพบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีการกลายพันธุ์" รศ.นพ.โอภาสระบุ

อย่างไรก็ดี ในปัจจบุนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับแล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส ซึ่ง รพ.จุฬาฯ ได้มีการเฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจจะเจอได้ในประเทศไทย โดยได้มีการตรวจหาไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่อาจจะเป็นแหล่งระบาดในสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น แอฟริกาใต้ อังกฤษ และบราซิล

"เป็นมาตรการที่ รพ.จุฬาฯ ทำร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้คนไทยมีโอกาสติดเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการใช้วัคซีนในอนาคตได้" รศ.นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดในประเทศไทย ในรอบแรกจะพบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ทุก 2 เดือน ส่วนการระบาดในรอบใหม่นี้ ยังเป็นสายพันธุ์ที่มาจากเมียนมาเป็นหลัก และหากไม่สามารถยับยั้งการระบาดจากคนสู่คนได้ ก็อาจจะกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นสายพันธุ์ของไทยเอง

"การระบาดในรอบแรก ไวรัสกลายพันธุ์ทุก 2 เดือน เราจับได้ 3 สายพันธุ์ ส่วนรอบใหม่นี้ยังเป็นสายพันธุ์ที่มาจากพม่า และยังไม่มีการกลายพันธุ์ แต่ในปัจจุบันหากไม่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อจากคนไปสู่คนได้ สายพันธุ์พม่าอาจจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ในที่สุด อาจเป็นสายพันธุ์ของเราเอง และมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนไปได้" รศ.นพ.โอภาสกล่าว

ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ คือพยายามหยุดการระบาด โดยการหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ เพื่อยับยั้งโอกาสไม่ให้ไวรัสเข้ามาอยู่ในตัวคน เพราะเมื่อไวรัสเข้ามาอยู่ในตัวคนแล้ว จะมีกระบวนการแบ่งเซลล์ที่อาจทำให้เกิดโอกาสการกลายพันธุ์ได้ และอีกวิธีในการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้ คือการใช้วัคซีน

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การห้ามคนจากแอฟริกาใต้ไม่ให้เดินทางเข้ามาประเทศไทย อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อการป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 ได้มากเท่าใดนัก เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้มีการแพร่กระจายผ่านระบบทางเดินหายใจ และเชื้อไม่ได้อยู่เฉพาะที่แอฟริกาเท่านั้น แต่ได้กระจายไปยังหลายประเทศในยุโรปแล้ว

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของไวรสโควิด-19 ในประเทศแต่ละพื้นที่สำคัญว่า ใน จ.ปทุมธานี ที่ตลาดพรพัฒน์ พบว่าการระบาดเริ่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกของตลาดพรพัฒน์นั้น จากการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มตัวอย่างช่วง 400 รายแรก พบอัตราการติดเชื้อสูงถึง 10% แต่หลังจากการตรวจค้นหาเชิงรุกในกลุ่มตัวอย่างช่วง 1,500-1,700 คนหลังมานี้ มีอัตราการติดเชื้อลดลงเหลือ 5-9%

ส่วนในกรุงเทพฯ สถานการณ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องแล้ว 4 วัน โดยรับรายงานวันสุดท้ายเมื่อ 11 ก.พ.64 ขณะที่ระบบการตรวจหาผู้เกี่ยวข้องยังคงความเข้มข้น และการ์ดสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงงานในเขตบางขุนเทียน และเขตภาษีเจริญ ที่ได้มีการตรวจค้นหาเชิงรุกไปก่อนหน้านี้ ได้มีการฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จากการค้นหาเชิงรุก ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ