(เพิ่มเติม) สธ. เผยไทม์ไลน์แพทย์ไทยรายแรกเสียชีวิต อายุ 66 ปี มีโรคประจำตัว

ข่าวทั่วไป Thursday February 18, 2021 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายล่าสุดวันนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ (เกษียณอายุ) อายุ 66 ปี เพศชาย มีโรคประจำตัว มะเร็งต่อมลูกหมาก ไขมันในเลือดสูง ถุงลมโป่งพอง ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตสะสมรวม 83 ราย โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้

  • วันที่ 13-28 มกราคม 64 ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 2,9 และ 11 ของจ.มหาสารคาม ที่คลีนิก
  • วันที่ 29 มกราคม 64 ตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ
  • วันที่ 31 มกราคม 64 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้
  • วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 64 มีอาการไข้ ตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ครั้งที่ 2 ผลพบเชื้อ
  • วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 64 เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.มหาสารคาม
  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 64 ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ อาการทรุดลงเรื่อยๆ ส่งต่อรับการรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์
  • วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 64 เสียชีวิต เวลา 01.00 น.

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-18 ก.พ. 64 มีจำนวนทั้งหมด 36 ราย อายุเฉลี่ย 36 ปี (ต่ำสุด 21 ปี สูงสุด 70 ปี)

พร้อมย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งระหว่างรักษา เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงต่ออาการป่วยรุนแรง หากได้รับเชื้อโควิด-19 ควรเลี่ยงเข้าที่ชุมนุมชน สถานที่แออัด โดยสวมหน้ากากผ้า/หน้าการอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง

สำหรับภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่ควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี โดยรอบสัปดาห์นี้พบการติดเชื้อ 19 จังหวัด เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนที่พบเชื้อ 11 จังหวัด และยังไม่พบการติดเชื้อใน 14 จังหวัด

สำหรับการจัดเตรียมชุดฉีดยาที่จะใช้ในการฉีดวัคซีนทั่วประเทศนั้น ขณะนี้ได้มีการจัดเตรียมไว้แล้ว 2.6 ล้านชุด ซึ่งเพียงพอสำหรับการฉีดวัคซีนในล็อตแรก และจะมีการทยอยส่งมอบให้สอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้

ด้าน นพ.ณัฐพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ให้บุคลากรทางแพทย์ต้องระมัดระวังตัวมีเครื่องป้องกันอย่างดี ปฏิบัติตามหลักหัตถการอย่างเคร่งครัดในขณะปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันประชาชนที่มีโรคประจำตัวจะมีภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามหลักชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด และแจ้งประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ที่ตรวจรักษาได้รับทราบอย่างตรงไปตรงมาทุกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ