สธ.เผยผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เกิดผลข้างเคียง 270 ราย แต่ไม่ใช่อาการรุนแรง

ข่าวทั่วไป Friday March 5, 2021 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จนถึงวันนี้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 17,697 ราย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข 15,981 ราย เจ้าหน้าที่อื่นที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,603 ราย ผู้ที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย ซึ่งพบผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 270 ราย หรือคิดเป็น 1.5% แยกเป็น ปวดบวมที่ฉีด 24% คลื่นไส้ 15% เวียนศรีษะ 13% และปวดกล้ามเนื้อ 8%

"1 ใน 3 ของผู้รับวัคซีนโควิด-19 อาจพบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่อาการรุนแรง ตามที่มีรายงานการฉีดวัคซีนในไทยเกิดผลข้างเคียงแค่ 1.5% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดหมาย" นพ.จักรรัฐ กล่าว

สำหรับกรณีแพทย์หญิงอายุ 28 ปีในจังหวัดสมุทรสาครนั้น ได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 เวลา 11.40 น. จากนั้นเวลา 12.10 น.มีอาการเวียนศรีษะเล็กน้อยแต่ยังทำงานได้ เวลา 14.00 น.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ แต่ยังทำงานได้ เวลา 16.30 น.มีอาการเวียนศรีษะ แน่นหน้าอก เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น ความดันโลหิตตก หลังได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังกลับไปสังเกตอาการที่ที่พักได้ถ่ายเหลว 4 ครั้ง วันที่ 3 มี.ค.64 อาการดีขึ้น ถ่ายเหลว 1 ครั้ง ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการข้างเคียงมากกว่าปกติ จึงได้นำเข้าสู่การพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความเห็นว่าเป็นอาการพึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรง เนื่องจากสัญญาณชีพ ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ หลังเกิดอาการยังสามารถปฏิบัติงานได้ ส่วนอาการถ่ายเหลวอาจเป็นผลจากอาหารเป็นพิษ ส่วนประวัติการแพ้ยาเพนนิซิลลีนไม่น่าจะเกี่ยวข้อง

"ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ให้ความเห็นตรงกันว่าอาจเป็นปฏิกิริยาจากวัคซีน แต่ไม่ใช่อาการรุนแรง" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนอาจมาจากความกลัวการฉีดวัคซีน, มีโรคหรืออาการป่วยอื่นร่วมด้วย, ขณะนี้ฉีดวัคซีนมีความเย็นมากเกินไป เป็นต้น โดยอาการข้างเคียงจะพบน้อยลงเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่สอง แต่อาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนล้าอาจยังพบเมื่อฉีดเข็มที่สอง

ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรง ได้แก่ มีไข้สูง, แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก, ปวดศรีษะรุนแรง, มีจุดเลือดออกจำนวนมาก, เป็นผื่นขึ้นทั้งตัว, อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง, ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ชัก หมดสติ

สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้ารับวัคซีน ได้แก่ ไม่ตั้งครรภ์ กำลังรักษาอาการป่วยรุนแรง มีอาการป่วยก่อนฉีดวัคซีน, ให้ประวัติเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีนหากเป็นผู้แพ้วัคซีนหรือยา, พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหาร, ไม่ควรกินยาแก้ไข้หรือแก้ปวด เป็นต้น

"มีข่าวดีว่า วัคซีนของซิโนแวกที่เรากำลังใช้อยู่ มีผลทดลองระยะที่ 3 ในตุรกีมีประสิทธิภาพ 83.5%" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคงที่ แสดงถึงมาตรการควบคุมได้ดีทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับสองหลักต่อเนื่อง

สำหรับการควบคุมการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น ตลาดพรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว หลังดำเนินการคัดกรองเชิงรุก 12,066 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อรวม 527 ราย ส่วนกรณีผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เดินทางมาจากประเทศเคนย่าและไนจีเรียนั้น สามารถตรวจพบขณะกักตัว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อกองประกวดครั้งนี้ และหากรักษาอาการป่วยได้ทัน ก็สามารถเข้าร่วมการประกวดได้

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปเอเชียจะพบว่าประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นมีประชากร 126 ล้านคน มียอดผู้ป่วยสะสม 435,548 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 345 ต่อแสนคน, อินโดนีเซีย มีประชากร 271 ล้านคน มียอดผู้ป่วยสะสม 1,361,098 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 503 ต่อแสนคน, มาเลเซียมีประชากร 32 ล้านคน มียอดผู้ป่วยสะสม 307,943 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 964 ต่อแสนคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ