นายกฯ สั่งพัฒนาสนามบินภูมิภาคขึ้นระดับนานาชาติพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 19, 2007 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณาแผนงาน/โครงการเร่งด่วนพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาเรื่องการพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาคให้มีมาตรฐานเป็นสนามบินนานาชาติ เพื่อเตรียมสำรองไว้ใช้ทดแทนกันในกรณีฉุกเฉิน
"นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่าควรจะพิจารณาให้สนามบินกระบี่เป็นสนามบินสำรอง หากเกิดกรณีฉุกเฉินจนสนามบินภูเก็ตต้องปิดบริการก็สามารถใช้สนามบินอื่นที่เชื่อมโยงทั้งผู้โดยสารภายในและต่างประเทศได้ ขณะที่สนามบินกระบี่ยังไม่ความพร้อมที่จะให้บริการ" ร.อ.ยงยุทธ กล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ไปดูแลเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา
ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง สตูล และตรัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในการติดตั้งระบบเตือนภัย การรักษาความสะอาด สภาพแวดล้อม และการเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยให้งบประมาณสนับสนุนใน 21 โครงการ รวมเป็นเงิน 1,325 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายและการสั่งการของนายกรัฐมนตรีและเงื่อนไขกองทุนสึนามิจำนวน 4 โครงการ วงเงิน 109 ล้านบาท เช่น การติดตั้งหอเตือนภัยและอาคารหลบภัยใน จ.ตรัง สตูล พังงา และเกาะพีพี จ.กระบี่
กลุ่มโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายและการสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมีความสำคัญสูงจำนวน 8 โครงการ วงเงิน 37 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการจัดการขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสียใน จ.กระบี่ และ จ.ภูเก็ต และกลุ่มโครงการที่เห็นควรขอสนับสนุนงบประมาณปกติ จำนวน 9 โครงการ เช่น การซ่อมแซมท่าเรือปากบารา จ.สตูล, การก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร ช่วงกระบี่-ตรัง-สตูล เป็นต้น
ร.อ.ยงยุทธ กล่าวว่า ภาคเอกชนยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสำหรับ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ขณะที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เสนอว่าควรจะสร้างท่าเรือลักษณะตั้งฉากกับชายฝั่งเพื่อสำรองไว้ใช้กรณีเกิดสึนามิ เรือจะรับกับคลื่นได้ แต่หากเป็นท่าเรือแนวขนานกับชายฝั่งจะดึงเรือพัดเข้าหาฝั่ง
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการที่จะนำเสนอเข้า ครม.สัปดาห์หน้าซึ่งใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการติดตั้งระบบเตือนภัย อาคารหลบภัย โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเรื่องไปพิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอเข้า ครม.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ