กทม.คาด รพ.บุษราคัม ช่วยแก้ปัญหาเตียงไม่พอ นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรักษาไวขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday May 10, 2021 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เน้นย้ำเรื่องนโยบายการนำผู้ป่วยโควิดให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจากระดับสีเขียวไปสู่ระดับสีเหลืองให้น้อยลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในระลอกปัจจุบัน เชื้อมีการแพร่กระจายที่ค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระดับสีเขียวเปลี่ยนไปสู่ระดับสีเหลืองเร็วขึ้น ซึ่งยอมรับว่าเตียงสำหรับการรักษาผู้ป่วยระดับสีเหลืองในปัจจุบันค่อนข้างจะตึงตัวแล้ว

อย่างไรก็ดี จากการที่ กทม.ได้เตรียมเปิด รพ.สนามบุษราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ซึ่งคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันศุกร์นี้ (14 พ.ค.) ก็คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องความไม่เพียงพอของเตียงที่จะใช้รับผู้ป่วยระดับสีเขียวและสีเหลืองได้ดีขึ้น เนื่องจากที่ รพ.สนามแห่งนี้ สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 5,200 เตียง

ผอ.สำนักการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มี รพ.สนามทั้งหมด 10 แห่ง และ Hospitel อีก 75 แห่ง คิดเป็นทั้งหมดกว่า 16,800 เตียง โดยขณะนี้ จากที่มีผู้ป่วยหายดีและสามารถกลับบ้านได้แล้วจึงทำให้มีการหมุนเวียนเตียง และมีเตียงว่างอยู่อีกราว 8,000 เตียง

พร้อมยืนยันถึงระบบการประสานรับผู้ป่วยโควิดของศูนย์เอราวัณว่า จะเป็นไปตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนและตามลำดับก่อนหลัง ซึ่งหากทางศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ก็จะมีการคัดกรองผู้ป่วยว่าเป็นระดับสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง เพื่อประสานส่งต่อไปยัง รพ.สนาม, Hospitel หรือ รพ.หลัก โดยตั้งเป้าหมายที่จะประสานส่งตัวผู้ป่วยให้ได้หมดภายในวันต่อวัน

นพ.สุขสันต์ ยังได้ฝากถึงผู้ป่วยโควิดด้วยว่า ขออย่าปฏิเสธเมื่อได้รับการติดต่อประสานจากทางเจ้าหน้าที่ในการจะรับตัวส่งไปรักษายัง รพ.สนาม อย่างไรก็ดี ระยะหลังนี้พบว่ามีผู้ป่วยปฏิเสธ รพ.สนามน้อยลงเหลือราว 5% จากช่วงแรกที่มีการปฏิเสธมากถึง 10%

ด้าน พญ.ปานฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. มีเครือข่ายในการลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ร่วมกับทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ รวมทั้ง รพ.เอกชน เพื่อค้นหาและคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วที่สุด โดยปัจจุบัน กทม.มีศักยภาพการตรวจคัดกรองในชุมชนราว 1 หมื่นคน/วัน

นอกจากนี้ กทม.ยังได้รับความร่วมมือที่ดีจาก อสม.ในการช่วยชี้เป้าหมายกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ตลอดจนทำหน้าที่ในการจัดส่งเสบียงอาหาร ของใช้จำเป็นสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านโดยไม่สามารถออกมาภายนอกได้ อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว 14 วันเพื่อสังเกตอาการนั้น หากไม่สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ ทางกทม.ได้จัดให้มี Local Quarantine (LQ) ไว้รองรับ ซึ่งขณะนี้มีว่างอยู่ 200 เตียง และเตรียมจะเปิดเพิ่มเติมอีกในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ