นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงใน UNGA76 เน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคี พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ข่าวทั่วไป Sunday September 26, 2021 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly - UNGA76) ภายใต้หัวข้อ การสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหวัง โดยการฟื้นฟูจากโควิด-19 การสร้างอย่างยั่งยืน ตอบรับความต้องการของโลก เคารพสิทธิของผู้คน และการฟื้นฟูของสหประชาชาติ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลว่า ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกนาน ความสามารถที่จะเรียนรู้สู่บริบท "Next Normal" รวมถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภูมิภาค และประการสำคัญ คือ การชะงักงันในการเร่งขับเคลื่อน SDGs ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกในวงกว้าง

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีชื่นชมวิสัยทัศน์ของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้จัดทำรายงาน Common Agenda ซึ่งเสนอความสำคัญในการร่วมมือกัน "เพิ่มพลัง" และสร้างเครือข่ายความร่วมมือพหุภาคี เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และมีสันติภาพ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "ความหวัง" และความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างโลกของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสมดุลที่มีคนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พลิกวิกฤตเป็น "โอกาส" ร่วมกันผลักดันการปฏิรูปความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี ให้สามารถเป็น "Driver of Change" อย่างแท้จริง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จะไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ประชาคมโลกจึงต้องเร่งผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ทุกประเทศต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ WHO เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลกรวมถึงการหารือเพื่อพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty ในส่วนของไทยได้พยายามส่งเสริมการผนวกรวมมิติด้านสาธารณสุขในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ เชิญชวนให้มีการใช้ประโยชน์จากหลักการกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขตามกรอบเซนไดฯ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างระบบสาธารณสุขของโลกที่มีภูมิต้านทาน เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการฟื้นตัวที่ยั่งยืนต่อไป

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608-2613 พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 3 ใน 10 ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนให้ประชาคมโลกร่วมกันผลักดันให้การประชุม COP26 มีพัฒนาการที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ทุกประเทศควรร่วมมือกันเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสู่ "ความสมดุลของสรรพสิ่ง" โดยเฉพาะสร้างสมดุลของการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการเร่งพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ EEC เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงสามารถปรับตัว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และฟื้นตัวจากภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การผลักดันการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ในทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายรวมถึงความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นจากโควิด-19 โดยประชาคมโลกควรให้ความสำคัญกับการดำเนินตามแผนปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี ไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเกื้อกูลกันระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภายหลังโควิด-19 และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของโลกต่อความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต

ไทยเชื่อว่า หัวใจของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs คือ ความสมดุล ไทยได้ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงของระบบอาหารโลกผ่านเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน เป็นต้นแบบของการปลูกฝังการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับเยาวชน

ความสงบสุขและเสถียรภาพเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพ ที่ผ่านมา ไทยพยายามมีบทบาทที่ต่อเนื่อง ได้ส่งเสริมการสร้างสันติภาพและบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในกรอบคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพ และบริจาคเงินสมทบกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ไทยยังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนับสนุนภารกิจการส่งเสริมสันติภาพของ UN อย่างแข็งขัน และไทยยังได้บริจาคเงิน จำนวน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของ UN ในการดำเนินงานเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ การมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the prohibition of nuclear weapons : TPNW) สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นหลังปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ แม้ในห้วงที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยยังส่งเสริมการเชื่อมโยงความร่วมมือในกรอบ TPNW กับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วย สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยได้ติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และยืนยันที่จะส่งเสริมการใช้การทูตพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ในเมียนมา และส่งเสริมการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของที่ประชุมผู้นำอาเซียน ควบคู่กับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีความท้าทายสูงเหมือนเช่นหลาย ๆ ประเทศ อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมีความสำคัญ โดยเฉพาะการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้นำพลังของอาสาสมัครในท้องถิ่นและความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ในการรับมือกับโควิด-19 โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย มาเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโควิด-19

ในโอกาสนี้ เดือนธันวาคมที่จะถึงนี้จะครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย ที่ผ่านมาไทยได้แสดงบทบาทในฐานะรัฐสมาชิกและหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ และสร้างสรรค์ อีกทั้ง ไทยยังเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของสำนักงานสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย และมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศและการฝึกอบรมในภูมิภาค ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ และไตรภาคี รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพการประชุม Global South-South Development Expo ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ESCAP และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ ในปี 2565

นอกจากนี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ไทยจะผลักดันเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยง และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งประเด็นสำคัญเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลหลังโควิด-19 โดยหวังว่าจะสามารถให้การต้อนรับโลกสู่ไทยภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงตลอดกาล

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภายใต้กรอบของ UN จะนำเราไปสู่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ และพลังของประชาคมโลกในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน จะนำเราไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายจะผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันพร้อมกับการมีโลกใบใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม

อนึ่ง การกล่าวอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 และ 27 กันยายน 2564 โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิกได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงนโยบาย ความคิดเห็น และท่าทีของประเทศตนในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อหลัก ทั้งนี้ การร่วมกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทย เป็นโอกาสในการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และความพร้อมในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการยึดมั่นในระบบพหุภาคี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ