นักเศรษฐศาสตร์ชี้รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย

ข่าวทั่วไป Friday November 2, 2007 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนของสภาพัฒน์และนักการธนาคาร ออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากแนวทางการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นบริโภคทำได้ยากเหตุราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อสูง โดยเสนอให้สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเร่งส่งเสริมการลงทุน
"ตามหลักเศรษฐศาสตร์คงใช้นโยบายการเงิน หรือการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ลำบาก เพราะไม่เช่นนั้นยิ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น" นายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)กล่าวในการสัมนาเรื่อง "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง"
เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องจนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าราคาน้ำมันตลาดดูไบในปี 51 เฉลี่ยจะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์/บาเรล สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 50 ประมาณ 10 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 50 จะขยายตัว 4-4.5% ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี เพราะมีปัจจัยจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การลงทุนที่ขยายตัวติดลบ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วง 6 เดือนแรกของปีขยายตัวเพียง 1.1% ต่ำกว่าปี 49 ที่ขยายตัว 3.1% แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจก็ไม่ได้เลวร้ายมากนักเพราะการจ้างงานยังอยู่ในระดับสูง
ดังนั้น ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีและการลงทุน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยสวนกระแสเศรษฐกิจโลกจนขยายตัวถึง 5% ตามที่ได้ประเมินไว้
"มีภาคเอกชนหลายรายประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่โปรโมชั่นลดราคาถึง 50% แต่ผู้บริโภคก็ยังไม่ซื้อ และคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะลดราคาไปถึงเมื่อไหร่เพราะประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกยิ่งกดดันให้เงินเฟ้อสูง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดดอกเบี้ยคงทำได้ยาก เพราะจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ยากอีก"นายปรเมธี กล่าว
ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่ขยายตัวในระดับที่สูงจะเป็นบททดสอบทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดหน้า เพราะทำให้ความสามารถในการบริโภคลดลง และตามหลักทฤษฏีแล้วไม่มีประเทศไหนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดดอกเบี้ยในช่วงที่เงินเฟ้อสูง ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้
นอกจากนี้ ปัจจัยท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง เช่น การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน, ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและผันผวน, ราคาน้ำมันและสินค้าสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีอานิสงน์จากนโยบายรัฐบาลชุดนี้ที่ทำให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นคือ ระดับหนี้สาธารณะลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 38.1% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถก่อหนี้ในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ยังรักษาวินัยทางการคลังได้อีกมาก เช่น รถไฟฟ้า และการจัดการทรัพยากรน้ำ
ขณะที่นายสมภพ เจริญกุล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจที่นำมาหาเสียงยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีความโดดเด่น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการพัฒนาการศึกษา,เศรษฐกิจ,สังคม,รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท,ส่งเสริมการส่งออก ซึ่งคล้ายคลึงกันเหมือนกับการลอกนโยบายกันมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ