นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เสนอรัฐบาลหากไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงในเรื่องน้ำมันแพงได้ก็ควรจัดหาพื้นที่การทำประมงให้เพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพประมงเริ่มลดลงจากการอนุญาตให้ติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันเพื่อสำรวจน้ำมัน เพราะได้มีการประกาศให้เรือประมงออกห่างจากบริเวณดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นว่าควรจะศึกษาว่าจะให้ชาวประมงสามารถประกอบอาชีพบริเวณอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้หรือไม่ รวมถึงหามาตรการป้องกันน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะไหลลงสู่ทะเลด้วย ในงานสัมมนา "ปัญหาราคาก๊าซและน้ำมัน ใครก่อ ใครแก้" ผู้ประกอบการด้านประมงได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยปัจจุบันเรือประมงที่ออกหาปลานอกน่านน้ำไทยต้องจอดเรือทิ้งไว้เฉยๆ ถึง 4 หมื่นลำ จากทั้งหมด 6 หมื่นลำ ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 200% จากในอดีต ขณะที่ราคาสัตว์น้ำสูงขึ้นเพียง 10% เท่านั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล เลขามูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น หน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้โดยตรงคือ บมจ.ปตท.(PTT)ที่ควรลดกำไรลงบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของการลดราคาก๊าซ เพราะข้อมูลผลประกอบการ 9 เดือนของปี 50 ปตท.มีกำไรสุทธิถึง 73,346.4 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากก๊าชธรรมชาติถึง 40,410 ล้านบาท ซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยที่ไม่ได้เป็นการนำเข้า "ก่อน ปตท.จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาก๊าซหุงต้มถังละ 100 กว่าบาท แต่ปัจจุบันราคากว่า 300 บาท ซึ่งบริษัทต้องการเอาใจผู้ถือหุ้นจึงจำเป็นต้องสร้างกำไรมหาศาล ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านก็ควรลดราคาก๊าชหุงต้ม 50% น่าจะดี เนื่องจากก๊าชธรรมชาติก็เป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน" น.ส.รสนา นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.)กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปีหน้าจะเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 เหรียญสหรัฐ/บาเรล โดยมีปัจจัยจากปัญหาการเมืองของประเทศผู้ผลิตราคาน้ำมัน, ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่อัตราคาการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างจีน อินเดีย และยุโรป รวมทั้งมีการเก็งกำไรของกองทุน เป็นต้น จากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐควรบังคับให้ประชาชนใช้พลังงานจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์และ NGV แต่ยอมรับว่าอาจจะดำเนินการได้ลำบากเพราะยังมีอุปสรรคหลายฝ่าย ขณะเดียวกันภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนในการยกเลิกการใช้เบนซิน 95 และปัญหาต้นทุนที่แท้จริงของ NGVที่รัฐกดราคาให้ต่ำ ส่งผลให้เอกชนไม่เพิ่มปริมาณของปั๊มให้เพียงพอต่อความต้องการ