สธ.ยืนยันโอมิครอนในไทยแล้ว 9 ราย หมอย้ำฉีดวัคซีนลดป่วยหนัก-เสียชีวิต

ข่าวทั่วไป Wednesday December 15, 2021 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน" ว่า การตรวจสอบเชื้อโควิด-19 หาสายพันธุ์โอมิครอนจะต้องใช้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีอยู่ 15 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงในส่วนกลาง และสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเท่านั้น ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ 465 แห่งทั่วประเทศไม่สามารถตรวจได้ทั้งหมด โดยการตรวจหาสายพันธุ์จะมีหลักเกณฑ์ ได้แก่ ผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะแปลกๆ ซึ่งมั่นใจว่าหลักเกณฑ์ที่วางไว้จะสามารถตรวจจับสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างแน่นอน

โดยสายพันธุ์โอมิครอนน่าห่วงกังวล เพราะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือนการรวมหลายสาย แต่สิ่งที่ให้ความสนใจมี 3 ประการ คือ 1.แพร่เชื้อรวดเร็วหรือไม่ 2.หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือไม่ และ 3.อาการรุนแรงหรือไม่

"ต้องมีการแพร่ระบาดในประเทศสักวัน คงไม่สามารถที่จะปิดกั้นไว้ได้ แต่หากตรวจพบ ต้องตะครุบตัวให้เร็ว จำกัดวงการแพร่ระบาดได้เร็วก็ไม่มีปัญหา ซึ่งล่าสุด ตรวจพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 14 ราย คอนเฟิร์มแล้ว 9 ราย" นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มาตรการ VUCA ถือว่ามีความสำคัญที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่มีการแพร่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้มีการเพาะเชื้อเพื่อนำไปทดสอบว่าวัคซีนที่ใช้อยู่สามารถป้องกันได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนความถี่ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะยังไม่มีวิธีใดที่จะสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ยาวนานที่สุด บางทีอาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนกันทุกปี หรืออาจจะต้องฉีดมากกว่าปีละครั้ง

พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนทุกชนิดที่มีใช้งานอยู่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% เพราะภูมิคุ้มกันจะตกลงมาจากช่วงแรก ดังนั้นจึงต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด

สำหรับความพร้อมเรื่องของวัคซีนในขณะนี้ ถือว่ามีความหลากหลายและจำนวนเพียงพอ โดยในปี 65 จะมีการจัดเตรียมไว้จำนวน 120 ล้านโดส ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่ก็ต้องรอผลศึกษา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยควรรีบไปฉีดโดยเร็ว

พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใด ผู้ที่ฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน 5 เท่า สามารถป้องกันการนอนป่วยหนักและการเสียชีวิตได้มากกว่า 10 เท่า ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม จึงไม่ควรประมาทว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะหากติดเชื้อแล้วจะไม่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

"สถานการณ์ในแอฟริกาใต้ช่วง 3 สัปดาห์แรก อาจยังบอกอะไรไม่ได้มาก อาจเป็นเพราะคนที่เคยติดเชื้อเดลตาแล้วยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ก่อนที่จะติดเชื้อโอมิครอน และยังมีอายุน้อย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระมัดระวัง" พญ.สุเนตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ