สภาพัฒน์เผยเด็กไทยมีแนวโน้มดื่มเหล้าสูงขึ้น-ห่วงยาเสพติดชนิดใหม่ระบาด

ข่าวทั่วไป Wednesday December 12, 2007 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สภาพัฒน์รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3/50 พบกลุ่มเยาวชนสามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายและถูกกระตุ้นจากโฆษณาให้อยากลอง ขณะที่เด็กและผู้หญิงมีแนวโน้มสูบบุหรี่มากขึ้น จากผลการทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายของบุหรี่ต่างชาติ ห่วงยาเสพติดแบบใหม่ ๆ แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น        
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)กล่าวว่า ในไตรมาส 3/50 คนไทยจ่ายเงินซื้อสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5%
"กลุ่มเยาวชนเข้าถึงแหล่งจำหน่ายได้ง่ายและสะดวก โดยเฉพาะร้านในตลาดและร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกันการโฆษณาของสินค้าผ่านสื่อจะเป็นลักษณะเชิงภาพบวกของการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ความเป็นสุภาพบุรุษ หรือประสบความสำเร็จในชีวิต และการงาน ส่งผลให้เกิดความต้องการทดลองมากขึ้น" นายอำพน กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 11-19 ปี มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 750,000 คน แบ่งเป็น ดื่มประจำ 30,100 คน เพิ่มจากปี 47 ถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ดื่มประจำเพิ่มถึง 15 เท่า
"สภาพัฒน์กำลังพิจารณาห้ามโฆษณาเครื่องดื่มในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ทุกรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้มีมาตรการเชิงบวก เช่น เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการให้มีผับหรือเธคที่ปลอดแอลกอฮอล์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปดื่มกิน ฟังเพลง และสังสรรค์นันทนาการร่วมกันได้" นายอำพน กล่าว
ส่วนการบริโภคยาสูบมีมูลค่า 6,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% โดยเด็กและผู้หญิงมีแนวโน้มการสูบเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันพบว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้พยายามขยายตลาดด้วยการใส่สารปรุงแต่งรส เช่น รสผลไม้ ช็อกโกแลต ทำให้เกิดความหลากหลายและเพิ่มสีสันบนซองให้ดึงดูดแก่เด็กและเยาวชนเกิดความอยากลองมากขึ้น
นอกจากนี้ สังคมไทยเริ่มประสบปัญหาสภาวะโภชนาการเกินจนน่าเป็นห่วงว่าส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะหากคนไทยกินอาหารไขมันสูง รวมถึงอาหารฟาสต์ฟู้ด และอาหารที่มีสารตกค้างจะเป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต มะเร็ง ไต และเบาหวาน ซึ่งปัจจุบัน 20% ของคนไทยเริ่มมีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในระดับ 20-25%
"ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ไม่ดี เพราะจะทำให้ภาครัฐเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคจำนวนมาก" นายอำพน กล่าว
ในปี 48 กรมบัญชีกลางต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ห้กับข้าราชการ 3 ล้านคนเศษที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิต เบาหวาน มะเร็ง และไต ปีละ 1,980 ล้านบาท และปัจจุบันเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เป็น 6,575 ล้านบาท ซึ่งหากคนไทยมีสภาวะโภชนาการเกิน 20% และนำมาคิดในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คงต้องใช้เงินเพิ่มอีกปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท และถ้ารวมโรคไตเข้าไปอีกก็จะต้องใช้เพิ่มอีก 20,000-40,000 ล้านบาท
ด้าน นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เป็นห่วงปัญหายาเสพติดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 47-49 มีคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นจาก 55,472 คดี เป็น 74,403คดี โดยเด็กและเยาวชนอายุ 18-24 ปี และผู้ว่างงานกลายเป็นผู้เสพติดรายใหญ่ และในปี 51 คาดว่าจะะมีเยาวชนอายุ 13-18 ปีจำนวน 560,000 คนที่มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
สำหรับชนิดของยาเสพติดที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า รองลงมาเป็นกัญชาแห้งและสารละเหย อีกทั้งมีกลุ่มยาเสพติดตัวใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ไอซ์ เอ็กซ์ตาซี่ โคเคน และเคตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิงพบมากในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ยังมีสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดใหม่ที่เริ่มพบ คือ กลุ่มไมด้าโซวแลมผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถออกฤทธิ์รุนแรงทำให้หมดสติได้ภายใน 10-20นาที และใบกระท่อมผสมกับน้ำอัดลมทั้งโค้กหรือเป็ปซี่ และยาแก้ไอมาดื่มแทนเหล้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น หากดื่มไปนานจะเกิดอาการสมองบกพร่องและประสาทหลอน
"ปัญหายาเสพติดที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถชี้ลงไปได้ชัดว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เพราะการปราบปรามจับกุมยังเพิ่มสูงขึ้น แต่สาเหตุหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะให้ภาครัฐดำเนินการอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องอาศัยบทบาทของชุมชนช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันและ ร่วมกันหยุดการค้าและเสพยาเสพติดด้วย" นายกิติศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ