ผบ.ตร. นัดถกหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ร่วมวางมาตรการลงดาบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ข่าวทั่วไป Thursday May 12, 2022 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผบ.ตร. นัดถกหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ร่วมวางมาตรการลงดาบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นัดประชุมหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครือข่าย เป็นต้น เพื่อร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้

ผบ.ตร. กล่าวว่า ผลการหารือแนวทางแก้ไขในเบื้องต้น ธปท. จะออกหลักเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบัญชีม้า โดยกำหนดจำนวนบัญชีที่สามารถเปิดได้, การอายัดแบบจำกัดวงเงิน, การจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้า ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอายัดเงินต่างบัญชีธนาคาร และระงับบัญชีม้าด้วยหมายเลขบัตรประชาชน, หมายเลขโทรศัพท์, ออกประกาศให้ธนาคารจัดทำช่องทางให้ประชาชนสามารถอายัดเงินได้เองผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร และเชิญคู่กรณีไกล่เกลี่ยภายใน 3 วัน

ขณะที่ ปปง. จะยึดอายัดทรัพย์สิน, เงินดิจิทัล, ติดตามเส้นทางการเงินที่เข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานอย่างรวดเร็ว และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการอายัดเงินสกุลเงินดิจิทัลนี้ ปปง. สามารถอายัดสกุลเงินที่ ก.ล.ต.รองรับ และสามารถอายัดบัญชีของผู้เทรดเหมือนบัญชีกับธนาคารทั่วไป แต่ยอมรับว่าหากถูกแปลงเป็นสกุลเงินอื่น หรือถูกโอนไปต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องยาก และการออกประกาศโดยสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินคดีกับผู้ขายเหรียญแบบ peer-to-peer และการวางแนวทางในการยึดเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี่จากผู้กระทำความผิด

ด้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ กสทช. จะสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างกลไล ระบุตัวตนตามตามกฎหมาย โดยออกประกาศให้ใช้วิธีการลงทะเบียนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่ายโดยตรงเท่านั้น และจำกัดจำนวนซิม หรือหมายเลข 5 หมายเลขต่อผู้ใช้บริการ 1 คน หากจะเปิดหมายเลขที่ 6 ผู้เปิดหมายเลขต้องไปยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยตนเอง, แก้ไขปัญหาการส่งข้อความโฆษณา หรือการปลอมเบอร์โทรศัพท์ ด้วยการโทรผ่านอินเตอร์เน็ต จะมีการบังคับให้แสดงเป็นเลขศูนย์ทั้งหมด หรือไม่ต้องแสดงหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตของประชาชน พร้อมกับระงับเส้นทางการเชื่อมต่อกับตัวแทนเครือข่ายที่ไม่ได้รับความร่วมมือในการระบุตัวตนผู้กระทำผิด

ทั้งนี้ จะจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่อให้สามารถตรวจสอบชื่อผู้ลงทะเบียน ซิมโทรศัพท์ และประวัติการรับ-ส่งข้อความสั้น (SMS) ย้อนหลัง เพื่อให้ช่วยในการระบุตัวตนผู้กระทำผิด, การแจ้งเตือนและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนผ่านแอปฯธนาคาร, แอปฯเป๋าตัง และ SMS จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อการข่มขู่ หรือเชิญชวนให้ลงทุนต่างๆ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่นโดยง่าย

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค.-เม.ย. 65) พบสถิติการร้องทุกข์แจ้งความ เฉลี่ยวันละ 300 คดี ยอดรวมกว่า 20,400 คดี ในจำนวนนี้ มีคดีที่มีความเชื่อมโยงกัน 3,285 คดี รวมมูลค่าความเสียหายเกิดขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะที่ผู้เสียหายส่วนใหญ่พบว่าถูกหลอกลวงด้านการเงิน ในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ตำรวจสืบสวนพบบัญชีเกี่ยวข้องการกระทำความผิด และได้ขออายัดเงินไปแล้ว 6,405 บัญชี ซึ่งมียอดเงินรวมกว่า 1,229 ล้านบาท โดยขณะนี้พบว่าสามารถอายัดเงินไว้ได้กว่า 62 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ