กยท.-อ.อ.ป.จับมือลดก๊าซเรือนกระจก เสริมรายได้ชาวสวนยางจากคาร์บอนเครดิต

ข่าวทั่วไป Sunday May 22, 2022 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล และการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา

นายณกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก หรือมาตรการ ZERO CARBON โดย กยท. เริ่มเดินหน้ามาตรการ ZERO CARBON เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเกษตรภาคยางพารา พร้อมวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่ง กยท. เล็งเห็นว่าโครงการนี้เป็นโอกาสใหม่ของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่จะได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต พร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

"โครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นโอกาสดีที่ กยท.ร่วมกับ อ.อ.ป. ร่วมมือกันส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล และการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการจัดทำโครงการ การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรมให้แก่ บุคลากรทั้ง 2 หน่วยงาน และเกษตรกรชาวสวนยาง พัฒนาความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล บริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพาราได้อย่างยั่งยืน" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

ด้านนายสุกิจ เปิดเผยว่า การทำ MOU ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นดำเนินตามพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ ของ อ.อ.ป. และ กยท. ซึ่งการลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล ให้ได้ตามมาตรฐาน FSCTM, PEFCTM ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา และสร้างโอกาสในธุรกิจคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพารา

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ อ.อ.ป. และ กยท. จะให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือในรูปแบบการจัดทำโครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรม ให้แก่บุคลากร เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจ ในเรื่องการทำสวนยางให้เกิดความอย่างยั่งยืน และให้เป็นไปตามมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพาราที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

นอกจากนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากร มีการศึกษาดูงาน และฝึกงานบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพ เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงเสริมสร้างและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ นวัตกรรม ในเรื่องการจัดการสวนยางให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างสูงที่สุด

"มุ่งหวังไว้ว่าการร่วมลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และจะสามารถพัฒนาศักยภาพของสวนยาง ให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนงานของรัฐบาล เรื่อง ลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง" นายสุกิจ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ