สธ.สั่งฟันรพ.เอกชนฝ่าฝืนกม.สถานพยาบาล โฆษณายาในแพ็คเกจรักษาโควิด

ข่าวทั่วไป Wednesday July 13, 2022 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่กรม สบส.ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการจัดแพ็คเกจรักษาโรคโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งปรากฏ ในสื่อโซเชียล ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่นั้น ในวันนี้ได้นำคณะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในย่านคลองหลวง

จากการตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลมีการโฆษณาแพ็คเกจรักษาโรคโควิด-19 แบบให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งมีแพ็คเกจหลายรูปแบบให้ผู้ป่วยเลือกรับบริการ โดยในบางแพ็คเกจมีการโฆษณาด้วยข้อความว่าจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ให้ผู้ป่วยนำไปรับประทานระหว่างกักตัวตามอาการ แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องสั่งจ่ายและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้สถานพยาบาลห้ามทำการโฆษณายา นอกจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะมาขออนุมัติโฆษณาจากกรม สบส.แต่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่ได้มีการยื่นเรื่องขออนุมัติ และไม่ได้รับอนุมัติให้โฆษณาแต่อย่างใด พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแจ้งข้อหาการกระทำผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว รวมทั้ง การโฆษณาแพ็คเกจการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ ก็เป็นการจ่ายยาตามอาการโดยไม่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในทุกราย ทำให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล ว่าเมื่อเข้ารับบริการแล้วจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ จึงถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ภาครัฐจัดสรรให้สถานพยาบาลนำมาให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามอาการอย่างเพียงพอ โดยไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด ดังนั้น ประชาชนไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลเนื่องจากอาจจะได้รับยาปลอม หรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึง ยาที่ไม่ถูกกฎหมายทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า ในการโฆษณาหรือประกาศทางการค้าของสถานพยาบาล จะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติจากผู้อนุญาต โดยยื่นขออนุมัติต่อ กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งโฆษณาของสถานพยาบาลที่ผ่านการอนุมัติจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวง อีกทั้ง เป็นการลดปัญหาการฟ้องร้อง และเกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันด้านธุรกิจสถานพยาบาลในมาตรฐาน

กรม สบส.จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งดำเนินการตามกฎหมายการโฆษณาอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง มาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ของสถานพยาบาล อย่างการสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ จะต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หากมีการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งมีการควบคุมกำกับดูแลมาตรฐานการรักษาอย่างเคร่งครัด หากพบแห่งใดมีการดำเนินการที่ผิดจากมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ กรม สบส.ก็จะมีการดำเนินคดีกับสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ให้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ