(เพิ่มเติม) รง.น้ำตาลทั่วประเทศ แถลงจุดยืนค้านเพิ่ม "กากอ้อย" ในร่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยฯ

ข่าวทั่วไป Thursday July 21, 2022 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า "กากอ้อย" ในคำนิยาม "ผลพลอยได้" โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เนื่องจากแนวคิดของการแก้ไขฯ ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมต่อโรงงานน้ำตาลที่ลงทุนเครื่องจักรเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากกากอ้อย แต่ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้กับคนอื่น ขณะที่กากอ้อยเป็นต้นทุนของโรงงานน้ำตาลที่มาจากการซื้ออ้อยจากชาวไร่อยู่แล้ว หากยังต้องแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มเติมอีกจะเป็นต้นทุนซ้ำซ้อน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจนในขณะนี้ แต่เล็งเห็นว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น

"หากร่างกฎหมายที่ออกจากวุฒิสภายังไม่มีการแก้ไขในประเด็นนี้ ตัวแทนโรงงานน้ำตาลพร้อมที่จะลาออกจากการร่วมเป็นกรรมการทุกชุดทันที" นายปราโมทย์ กล่าว

เนื่องจาก "กากอ้อย" ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิม ภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30% และ "กากอ้อย" ถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังนั้น การเพิ่ม "กากอ้อย" ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรม ไม่ได้รับสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้

"เราพยายามเรียกร้องมาตลอด ว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพ และเกิดความร่วมมือบริหารอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับนี้ กลับดึงคนนอกเข้ามาร่างกติกาที่พยายามทำลายข้อตกลงและธรรมนูญของกฎหมายเดิม และจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด" นายปราโมทย์ กล่าว

ประธาน TSMC กล่าวว่า ตอนที่เริ่มมีกฎหมายนี้ใช้เมื่อปี 27 มีผลผลิตอ้อยราว 22-23 ล้านตัน แต่ปัจจุบันมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าเป็น 135 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโต และไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นที่เห็นว่าขัดต่อ WTO เท่านั้น ไม่ควรเกินกว่าขอบเขต โดยนำข้อเสนอของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องมาพิจารณา

"อย่าเอาพวกมากลากไป หลักกฎหมายเดิม (พ.ร.บ.อ้อยฯ ปี 2527) ที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีเสถียรภาพ เติบโตมาได้ดีอยู่แล้วไปเปลี่ยนทำไม" นายปราโมทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านกระบวนการพิจารณาแล้วก็คงไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะกลุ่มผุ้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะไม่เข้าร่วม

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า กรณีดังกล่าวถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง โดยมีการจุดประเด็นในช่วงที่มีการแปรญัตติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวัตถถุประสงค์เพื่อหาเสียง เอาใจเกษตรกร เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ