สธ. เผย 40 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยฝีดาษลิงราย 1,2 กักตัวครบแล้ว ไม่พบติดเชื้อเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Monday August 22, 2022 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ. เผย 40 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยฝีดาษลิงราย 1,2 กักตัวครบแล้ว ไม่พบติดเชื้อเพิ่ม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) แล้วจำนวน 5 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย สัญชาติไทย 3 ราย โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยยืนยันรายแรกและรายที่สอง กักตัวครบ 21 วันแล้วจำนวน 40 คน ไม่พบอาการป่วย และได้ตรวจหาเชื้อซ้ำ ไม่พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โรงแรมที่ผู้ป่วยยืนยันไปเข้าพัก หลังจากทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและเมื่อครบ 11 วัน ได้ตรวจเชื้อฝีดาษลิงอีกครั้ง ผลคือยังสามารถพบสารพันธุกรรมของเชื้อฝีดาษลิงได้ ซึ่งเป็นซากเชื้อที่ยังหลงเหลืออยู่ และจากการคัดกรองเชิงรุกผู้ป่วยสงสัยจำนวน 58 ราย ผลตรวจยืนยันไม่พบเชื้อฝีดาษลิง

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลอาการป่วยของผู้ป่วยสงสัย พบว่า ส่วนหนึ่งมีอาการป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อ Herpes Simplex type 1 จำนวน 8 ราย (40%) Herpes Simplex type 2 จำนวน 3 ราย (15%) Herpes ชนิดอื่นๆ เช่น 6,7 จำนวน 3 ราย (15%) ติดเชื้อ Epstein Barr virus (EBV) 2 ราย (10%) ติดเชื้อ Syphilis และ Varicella zoster virus ชนิดละ 1 ราย รวม 2 ราย (10%)

"โรคฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงหรือติดต่อได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรก จนครบกำหนดระยะฟักตัว 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ยังไม่มีใครติดเชื้อ เมื่อครบกำหนดตรวจซ้ำ ยิ่งมั่นใจว่าโรคนี้ไม่ได้ติดกันง่ายๆ หากจะติดต้องสัมผัสใกล้ชิดกันจริงๆ ชนิดเนื้อแนบเนื้อ กลุ่มเสี่ยงจึงได้แก่ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หากใครคิดว่าตัวเองเสี่ยงขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกัน" นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในขณะนี้ (ข้อมูลล่าสุด ณ 21 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงยืนยันทั่วโลก จำนวน 42,362 ราย เสียชีวิต 13 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 14,595 ราย สเปน 6,091 ราย บราซิล 3,756 ราย เยอรมัน 3,266 ราย และ อังกฤษ 2,889 ราย

ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ยังคงดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งในสถานพยาบาล คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง และโรงพยาบาล ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยทำได้รวดเร็วขึ้น และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีศักยภาพในการรักษาโรคนี้ได้

"หากท่านใดเคยร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่นตุ่มหนอง และเริ่มมีไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองขึ้น มีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422" นพ.โอภาส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ