เพื่อไทยมาแรง! โพลเผยโอกาสสูงเป็นรัฐบาล-ไม่เชื่อจับมือ พปชร.

ข่าวทั่วไป Sunday December 11, 2022 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เพื่อไทยมาแรง! โพลเผยโอกาสสูงเป็นรัฐบาล-ไม่เชื่อจับมือ พปชร.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "6 พรรคกับโอกาสได้เป็นรัฐบาล" โดยเมื่อให้ประชาชนวิเคราะห์ถึงโอกาสที่พรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคจะได้เป็นรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า

1. พรรคเพื่อไทย (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว/น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40.38% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก รองลงมา 32.44% ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ขณะที่ 16.88% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย และอีก 8.24% ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

2. พรรคก้าวไกล (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 31.45% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา 30.23% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ขณะที่ 23.66% ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และอีก 11.00% ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

3. พรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 33.51% ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน รองลงมา 32.60% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ขณะที่ 20.38% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และอีก 10.76% ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

4. พรรครวมไทยสร้างชาติ (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค/พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 43.12% ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน รองลงมา 31.45% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ส่วนอีก 15.73% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และอีก 5.73% ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

5. พรรคภูมิใจไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 39.16% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา 30.84% ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ขณะที่ 21.60% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และอีก 4.96% ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

6. พรรคประชาธิปัตย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40.69% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา 38.93% ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ขณะที่ 13.20% ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และอีก 4.58% ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อกระแสข่าวข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 45.65% ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะเป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือ โอกาสเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน

รองลงมา 29.24% ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะทั้งสองพรรคต่างต้องการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของตนเอง จึงไม่น่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่ 16.64% ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองพรรคจะตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

และอีก 5.19% ระบุว่า เชื่อมาก เพราะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยเคยมีความสัมพันธ์กันในอดีต จึงอาจมีการหารือเพื่อตกลงเรื่องผลประโยชน์หากได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ