เตือน! ไทยควรตั้งการ์ดป้องกันโควิดสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5

ข่าวทั่วไป Tuesday January 3, 2023 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เตือน! ไทยควรตั้งการ์ดป้องกันโควิดสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากการศึกษาวิเคราะห์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟา ที่เริ่มจากประเทศอังกฤษในปลายปี 63 และถึงแม้ว่าไทยจะมีมาตรการปิดบ้านปิดเมือง มีการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 14 วัน แต่ในที่สุดสายพันธุ์นี้ก็มาระบาดในไทยช่วงเดือนมี.ค. 64 ส่วนสายพันธุ์เดลตา ที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศอินเดีย และไประบาดในยุโรปและอเมริกา และเข้าสู่ประเทศไทยหลังจากการระบาดในประเทศทางตะวันตกแล้ว

เตือน! ไทยควรตั้งการ์ดป้องกันโควิดสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5

เช่นเดียวกับสายพันธุ์โอมิครอน ที่เกิดในไทยหลังประเทศทางตะวันตก โดยขณะนี้การระบาดในไทยเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ยุโรปและอเมริกาได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว โดยปัจจุบันอเมริกาและตะวันตกทั่วโลก มีแนวโน้มจะเข้าสู่สายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 ทั้งนี้ คาดว่าต่อไปก็คงระบาดในไทยตามมา ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจะดื้อต่อภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับการระบาดในประเทศจีน ขณะนี้ยังเป็น BA.5 และลูกของ BA.5 คือ BF.7 ที่มีความคล้ายคลึงกับ BA.5 ที่ในไทยได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว หรือจีนตามหลังไทย ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะมีภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์นี้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึง คือการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ประเทศจีน โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดในผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้โอกาสที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไว้

เตือน! ไทยควรตั้งการ์ดป้องกันโควิดสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5

ทั้งนี้ จากเหตุผลตามสายพันธุ์ มองว่าขณะนี้ไทยควรป้องกันสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5 ที่ไทยได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ประเทศต้นทางที่น่าจะตรวจเพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ของไทย ควรจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศไทย เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ทั้งหมดก็ยังเป็นโอมิครอน ที่มีความรุนแรงน้อย และทั่วโลกก็ยอมรับว่าสายพันธุ์นี้ยังระบาดอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ