สกมช. เร่งกระตุ้นหน่วยงานรัฐ-เอกชนให้ความสำคัญผลักดันภัยไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday April 20, 2023 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมมือกับ โคลสเซอร์สติลมีเดีย และ เอ็กซโปซิส เปิดเผยความพร้อมการจัดงาน Smart Cybersecurity Summit Thailand ภายใต้แนวคิด "Resilient Cybersecurity for Thailand?s Digital Future" ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดินหน้าผลักดันความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่วมเจาะลึกความสำคัญและที่มาของการจัดการการป้องกันภัยร้ายทางเทคโนโลยี จากสถิติภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 เป็นเท่าตัว เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างเป็นรูปธรรม

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการ สกมช. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งการสร้างอีโคซิสเต็มที่เหมาะสม เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถิติภัยคุมคามทางไซเบอร์ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นแบบทวีคูณ

โดยภัยคุกคามส่วนใหญ่ที่ปรากฎคือ การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ (Hacked Website) การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ (Website Defacement) การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาข้อมูล (Website Phishing) การฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานเพื่อหลอกให้ผู้เข้าถึงเว็บดาวน์โหลดไปติดตั้ง (Website Malware)

และหน่วยงานที่ถูกโจมตีมากที่สุด 3 อันดับได้แก่ หน่วยงานทางการศึกษา จำนวน 325 เหตุการณ์ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ CII จำนวน 243 เหตุการณ์ หน่วยงานสาธารณสุข จำนวน 76 เหตุการณ์

พล.อ.ต. อมร กล่าวต่อว่า สกมช. ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ มีหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง มาตรฐาน มาตรการ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำกับดูแล เฝ้าระวัง เพื่อป้องกัน และรับมือความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ของประเทศ

การจัดงาน Smart Cybersecurity Summit Thailand ในครั้งนี้นับเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย และองค์กรชั้นนำระดับโลกที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยงานในประเทศไทยกับการรับมือภัยคุกคามจากไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี

ด้านนายสุริยา นาชิน อุปนายกสมาคมเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPOA) กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจะมีส่วนช่วยลดความเสียงการคุกคามทางไซเบอร์ในทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การเตรียมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้นองค์กรต้องให้ความสำคัญของบุคลากรควบคู่ไปกับการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดงานประชุม Smart Cybersecurity Summit Thailand จะเป็นแพลตฟอร์มทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่สำคัญ ทำให้หน่วยงานองค์ธุรกิจในประเทศไทยได้ต่อยอดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานในอนาคต เป็นการวางรากฐานสร้างความมั่นคงด้านภัยไซเบอร์ที่ยั่งยืนของทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ