ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดมรดก-โอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.

ข่าวทั่วไป Tuesday August 15, 2023 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดมรดก-โอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดก และการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ... และขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พ.ย. 66

สาระสำคัญร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดก และการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใน 3 กลุ่ม คือ ทายาทโดยธรรม สถาบันเกษตร และการโอนสิทธิในที่ดิน ไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดังนี้

1. กำหนดนิยาม เช่น "ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน" หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

2. การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินที่ถึงแก่ความตาย สามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ (คู่สมรส/ผู้สืบสันดาน (บุตร)/ บิดามารดา/ พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน/ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน/ ปู่ ย่า ตา ยาย/ ลุง ป้า น้า อา)

หากมีทายาทหลายคน ให้ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันของทายาททุกคน เว้นแต่ตกลงกันได้ว่าทายาทผู้ใดจะเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกแต่เพียงผู้เดียว ทายาทผู้รับที่ดินมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ได้รับสิทธิในที่ดินผู้ตายซึ่งมีอยู่ต่อ ส.ป.ก. ทายาทผู้รับที่ดินมรดกใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืน จะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.

3. การโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร กำหนดให้สถาบันเกษตรกรอาจรับโอนสิทธิในที่ดินได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินมีหนี้สินค้างชำระกับสถาบันเกษตรกร ให้สถาบันเกษตรกรที่จะรับโอนสิทธิในที่ดินต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือมีที่ดินไม่เกินขนาดที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด รวมทั้งยินยอมรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน (ผู้โอน) มีต่อ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงิน ที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรอื่น ให้สถาบันเกษตรกรใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืน จะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.

4. การโอนสิทธิในที่ดิน ไปยัง ส.ป.ก. กำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทน หรือโดยรับค่าตอบแทน หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้ ส.ป.ก. จังหวัดจัดส่งคำร้องพร้อมทั้งความเห็น และรายงานผลการตรวจสอบสภาพที่ดิน ให้ ส.ป.ก. พิจารณาสภาพความเหมาะสม ทางการเกษตร ลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันในที่ดิน ราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินได้ เฉพาะกรณีเป็นที่ดินที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น หากที่ดินไม่มีความเหมาะสมที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น มีการฝ่าฝืน กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะต้องโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. หรืออาจต้องฟ้องร้องต่อศาล เพื่อบังคับให้มีการโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. ต่อไป

ทั้งนี้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิในที่ดินได้ ดังนี้

(1) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไป ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดิน จะต้องไม่เกินกว่าราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็นแต่ไม่เกินกว่า 1 เท่าครึ่งของราคาประเมินดังกล่าว

(2) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินซึ่งใช้สอยที่ดิน โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ราคาค่าตอบแทน การโอนสิทธิในที่ดิน จะต้องไม่เกินกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้หักกลบลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคำสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าวด้วย

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้ จัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจาหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

โดยผู้มีสิทธิได้รับจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ (1) เกษตรกร (2) บุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร และ (3) สถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร/ สหกรณ์การเกษตร/ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) ซึ่งที่ดินของ ส.ป.ก. เป็น 2 ประเภท คือ

1. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข) ให้กับเกษตรกร

2. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่เอกชน ที่ดิน ส.ป.ก. ได้มาโดยการจัดซื้อหรือเวนคืน ส.ป.ก. จะจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน (ส.ป.ก. 4-14 ก) หรือสัญญาเช่าซื้อที่ดิน (ส.ป.ก. 4-18 ข) กับเกษตรกรสถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ