กต. แจงมาตรการเยียวยาแรงงานไทยในอิสราเอล เผยยอดผู้ถูกลักพาตัว 16 ราย

ข่าวทั่วไป Thursday October 12, 2023 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กต. แจงมาตรการเยียวยาแรงงานไทยในอิสราเอล เผยยอดผู้ถูกลักพาตัว 16 ราย

นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามสด นายวัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่สอบถามรัฐบาลถึงการให้ช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลว่า ในนามรัฐบาลไทย ขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ พร้อมเป็นกำลังใจกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์ปัจจุบันว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสยังดำเนินการอยู่ มีการยิงจรวดลงพื้นที่อิสราเอล ส่งผลต่อสถานที่ทั้งสนามบิน และไฟฟ้า โดยกองทัพอิสราเอลสามารถกำจัดกลุ่มฮามาสได้บางส่วน

สำหรับผลกระทบต่อคนไทยในเขตฉนวนกาซ่า มีแรงงานประมาณ 5,000 คน จากจำนวนทั้งหมด 30,000 คนที่ไปทำงานในอิสราเอล ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิต 21 คน และในท่ามกลางสถานการณ์สู้รบนี้ ทางการอิสราเอลยังไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ คาดจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ส่วนผู้บาดเจ็บ 14 คน ซึ่งสถานทูตได้เข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาล และจัดส่งผู้บาดเจ็บเล็กน้อยกลับไทยในเที่ยวบินพาณิชย์วันที่ 11 ต.ค. 66 แล้ว

นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนผู้ถูกลักพาตัว 16 คน รัฐบาลมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนไทย และอพยพคนไทยจากอิสราเอล โดยตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน เป็นกลไกหลักในการพิจารณาการช่วยเหลือคนไทยอย่างเร่งด่วน ไปจนถึงการอพยพ และการเสนอให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ โดยศูนย์ประสานงานของรัฐบาลนั้น จะทำงานแข่งกับเวลาทุกวินาที

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประชุมทุกวัน โดยรัฐบาลได้ช่วยเหลือคนไทยแบ่งออกเป็นผู้เสียชีวิต ผู้รับบาดเจ็บ และตัวประกัน โดยวานนี้ (11 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระหว่างการหารือได้มีการหยิบยกประเด็นการช่วยเหลือคนไทยจากเหตุการณ์รุนแรงในอิสราเอล ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งมาเลเซียมีสำนักงานตั้งอยู่ในปาเลสไตน์ จึงขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อดูแลชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

"รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสื่อสารไปยังปาเลสไตน์ โดยเฉพาะกลุ่มฮามาส ที่จับตัวประกันกลุ่มคนไทย ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ เพื่อให้ปล่อยตัวคนไทยทั้ง 16 คน เนื่องจากในปาเลสไตน์ ไม่มีสถานทูตไทยประจำอยู่ จึงประสานผ่านสถานทูตต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ เพื่อให้ช่วยเจรจาประสานให้มีการปล่อยตัวคนไทยในโอกาสแรก รวมถึงการประสานงานองค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยบรรเทาทุกข์และปฏิบัติงานเพื่อผู้ลี้ภัยชาวตะวันออก (EUNRWA) สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)" นายจักรพงษ์ กล่าว

สำหรับการติดต่อสถานทูต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดให้ประชาชนสามารถโทรติดต่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร 02-5728442 หรือโทร 064-0198530 กรมคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ส่วนกระทรวงแรงงาน เปิดสายด่วนฉุกเฉิน 1964 และมีการเปิดช่องทางโซเชียลมีเดีย

นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ามีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่จำนวนมากที่ติดต่อเข้ามา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ จะประสานงานไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือแรงงานที่อิสราเอลแทน ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินในอิสราเอลขณะนี้ สถานทูตไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ เพราะยังมีระเบิดด้วยตลอดเวลา

สำหรับแนวทางการเยียวยาคนไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานได้ทำงานในต่างประเทศ โดยคนที่จะเดินทางกลับจากภาวะสงคราม จะได้รับเงินสงเคราะห์ 15,000 บาท กรณีพิการ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิต 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายการจัดงานศพไปต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพกลับไทยให้ไปทำงานได้ที่อิสราเอล อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงการต่างประเทศพร้อมสนับสนุนการหารือทางอิสราเอล ที่จะส่งรายงานกลับไปอีกครั้งหลังสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

นายจักรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการอพยพขณะนี้ มีรอบแรกในเช้าวันนี้ และวันที่ 15 ต.ค. 66 จะมีเครื่องบินของกองทัพอากาศไปรับผู้อพยพอีก 120 คนในช่วงเช้า และอีก 100 คนในช่วงเย็น จากนั้นวันที่ 18 ต.ค. 66 จะมีอีกครั้งหนึ่ง

"นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ว่าต้องเพิ่มเที่ยวบินให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะไปรับคนไทยออกมา อาจใช้หลายวิธี ทั้งทางบก อากาศ ทางน้ำ ตอนนี้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม การเดินทางทางน้ำและทางบกเป็นไปได้ยาก แม้กระทั่งทางอากาศตอนนี้ ในบางช่วงเวลาก็มีการปิดน่านฟ้าแล้วด้วย" นายจักรพงษ์ กล่าว

สำหรับการเยียวยาทางจิตใจ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพบครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ