ห่วง PM2.5 ทำผู้ป่วยโรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรังพุ่ง

ข่าวทั่วไป Monday January 8, 2024 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืดอาการกำเริบ ปี 66 ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.8 หมื่นราย เป็นกว่า 2 หมื่นราย เดินหน้า "คลินิกคุณภาพ" ให้บริการสุขภาพเชิงรุกถึงในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ลดความเสี่ยงอาการกำเริบรุนแรง

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูล Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เดือนพ.ย. 66 พบว่า สถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากในปี 63-65 มีผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย แต่ในปี 66 พบผู้ป่วยสูงกว่า 20,000 ราย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลให้อัตราการป่วย อัตราการกำเริบเฉียบพลัน การนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 คาดการณ์ว่า ในช่วงต้นปีนี้สถานการณ์จะยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว รวมถึงมีปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการเผาพื้นที่ทางการเกษตร

นพ.สุรโชค กล่าวว่า สธ. จึงสนับสนุนให้มีการพัฒนา "คลินิกคุณภาพ" ที่ให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี เกิดคุณค่าสูงสุดในการรักษาพยาบาล โดยขยายบริการไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุกได้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้รับมอบอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) จากเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic: EACC) ซึ่งได้ส่งมอบไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ สำหรับใช้ในการคัดกรองประเมินอาการเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ช่วยลดโอกาสเกิดอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หรือต้องนอนโรงพยาบาลด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ