กษ.เร่งแก้ปัญหาสินค้าประมงราคาตกต่ำ เน้นมาตรการไม่ขัด WTO-IUU

ข่าวทั่วไป Tuesday February 13, 2024 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2567 ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ว่า จากกรณีชาวประมงขอให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ เนื่องจากมีการนำเข้าสัตว์น้ำมาจำหน่ายในประเทศ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. ขอให้หยุดการนำเข้าสัตว์น้ำ

2. ขอให้กำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำเข้าในประเทศได้ ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิต และความต้องการในประเทศ

3. ขอให้กำหนดมาตรฐานสัตว์น้ำ ที่จะนำเข้ามาให้เป็นมาตรฐานเดียวกับชาวประมงในประเทศ (IUU)

4. ขอให้มีความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า

5. กำหนดอัตราจัดเก็บภาษีนำเข้าสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายบัญชา กล่าวว่า กรมประมง รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ รวมถึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้นิยามสินค้าประมงให้จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ใช่สินค้าเกษตร จึงทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการป้องกันพิเศษ (Special Safeguards: SSG) ได้ ดังนั้นมาตรการในการหยุดนำเข้าสัตว์น้ำ และกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำเข้ามาในประเทศ อาจขัดกับหลักการค้าระหว่างประเทศของ WTO

อย่างไรก็ดี กรมประมง ได้ดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการของ WTO ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ทั้งในเรื่องของมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัยสัตว์น้ำที่จะนำเข้า มีการกำหนดมาตรฐาน และคุณภาพของสินค้าสัตว์น้ำ มีการสุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อวิเคราะห์สารตกค้าง โลหะหนัก และสารปนเปื้อนต่างๆ ในสินค้าสัตว์น้ำ

รวมถึงการสุ่มตรวจโรคที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยง เช่น การยกระดับการเปิดตรวจจากเดิม 30% เป็น 100% สุ่มเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์สารตกค้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 2% เป็น 10% หากพบว่ามีสารตกค้างในสินค้าประมง ก็จะดำเนินการอายัดสินค้า และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบ พร้อมดำเนินการเปรียบเทียบปรับ และยึดใบอนุญาตนำเข้า

ในส่วนของสินค้าสัตว์น้ำที่จับจากทะเล จะมีมาตรการป้องกันการนำเข้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่มาจากการทำการประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU) ที่กำหนดให้ผู้นำเข้า จะต้องแสดงหนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำที่นำเข้ามานั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย และสามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้

อีกทั้งในขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง และตรวจป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ และต้องให้แจ้งปลายทางของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศให้ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางการประเมินคุณภาพสินค้า แหล่งที่มา และมาตรฐานแหล่งผลิตที่ประเทศต้นทาง ในลักษณะเดียวกับ General Administration of Customs of the People?s Republic China (GACC) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะนำร่องจากชนิดสัตว์น้ำที่มีการนำเข้าปริมาณมาก ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ชาวประมงในประเทศไทยจับได้

นายบัญชา กล่าวว่า ที่สำคัญ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ และมอบหมายให้กรมประมงไปพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยจะมีการจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 19 ก.พ.นี้ ที่กรมประมง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติแล้ว จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ