สธ. เผยพบผู้ป่วยโรคหัดสูงขึ้น แนะพาเด็กเล็กฉีดวัคซีนตามกำหนด

ข่าวทั่วไป Friday March 8, 2024 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนให้ผู้ปกครองพาลูกหลานที่เป็นเด็กเล็กไปเข้ารับวัคซีนป้องโรคหัดตามกำหนดหลังพบสถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัดในขณะนี้เพิ่มสูงกว่า 3 ปีก่อน 6 เท่าตัว

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคหัดจากฐานข้อมูลโครงการกำจัดโรคหัด (Measle Elimination Online) พบผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-20 ก.พ.67 มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัดทั้งหมด 143 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 37 ราย และมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 10 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.07 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของสามปีที่ผ่านมา โดยพบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปีสูงที่สุด 1.16 ต่อประชากรแสนคน แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมี 4 จังหวัด โดยจังหวัดปัตตานีมีอัตราป่วยสูงที่สุด 5.74 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภูเก็ต (0.24) สงขลา (0.21) และยะลา (0.18) ตามลำดับ

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ 85% ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน ซึ่งจังหวัดที่มีการระบาดสูงยังมีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ โดยได้รับวัคซีน MMR1 เพียง 56.1% และ MMR2 41.6% จากการทบทวนข้อมูลความครอบคลุมของวัคซีนหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) ของฐานข้อมูล HDC พบว่า ความครอบคลุมของวัคซีน MMR2 ในประเทศไทยยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เป้าหมาย คือ ทุกจังหวัดต้องมีการฉีด MMR2 มากกว่า หรือเท่ากับ 95% จึงจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัดได้ ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ความครอบคลุมการฉีดวัคซีน MMR2 ไม่ได้ตามเป้าหมาย ถึง 65 จังหวัด จึงทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในโลกนี้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคหัด เนื่องจากความครอบคลุมของวัคซีนหัดต่ำลงในหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเทศไทย เคยมีการระบาดใหญ่ของโรคหัดในปี 2561-2562 ที่มีผู้ป่วยหัดยืนยันกว่า 3,000 รายต่อปี ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด มีจำนวนผู้ป่วยหัดลดลงอย่างมาก อาจเป็นผลพวงจากมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเช่นเดียวกันกับโรคหัด

ทั้งนี้ โรคหัดเกิดจากไวรัสหัด หรือ Measles virus พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด แพร่กระจายได้ง่ายเมื่อผู้ป่วยหายใจหรือไอ จาม ละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ 4 วันก่อนผื่นขึ้นไปจนถึงหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน อาการจะเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา หลังจากนั้นจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ อาจมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและรุนแรงคือปอดอักเสบและสมองอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

กรมควบคุมโรค ขอให้คำแนะนำและการป้องกันโรคหัด ดังนี้ 1.รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูก ขณะไอหรือจาม 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้ออกผื่น 3.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด สำหรับเด็กเล็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 เข็มที่อายุ 9 เดือน และ 1 ปีครึ่ง หากเด็กยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลยควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สำหรับผู้ป่วยหากมีอาการไข้ออกผื่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ในช่วงที่มีอาการควรสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัด ให้หยุดงาน หยุดเรียน หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น หลังจากผื่นขึ้นอย่างน้อย 4 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ