ศาลปกครอง สั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอ บ.ลูก EA ให้ กกพ.ชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม

ข่าวทั่วไป Thursday March 14, 2024 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับผลประมูลซื้อไฟฟ้าพลังงานลมไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

"จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลาการบังคับตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลมจำนวน 22 รายไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น" คำสั่งศาล ระบุ

คดีนี้ บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้ยื่นฟ้อง สำนักงาน กกพ. และ กกพ.ต่อศาลปกครองกลางหลังจากไม่ได้รับคัดเลือก และไม่ได้รับการพิจารณาคำอุทธรณ์ ทั้งที่คุณสมบัติความพร้อมทางเทคนิคขั้นต่ำ และแผนการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไม่ได้แตกต่างจากรายอื่น ๆ

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนฯ ที่กำหนดให้การคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจะพิจารณาตามลำดับคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคของเอกสาร โดยมีขั้นตอนต่างๆ เป็นเพียงการกำหนดหลักการอย่างกว้างๆ ไม่ได้มีการกำหนดค่าคะแนนของการประเมินความพร้อมทางด้านเทคนิค 5 ด้าน ได้แก่ 1.ความพร้อมด้านพื้นที่ 2.ความพร้อมด้านเทคโนโลยี 3.ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง 4.ความพร้อมการเงิน และ 5. ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน

ขณะที่หลักเกณฑ์การประเมินคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคและวิธีการคัดเลือกที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ กกพ.ได้กำหนดขึ้น ไม่ได้ประกาศเผยแพร่เป็นการทั่วไป ไม่ได้เปิดเผยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทราบกันโดยทั่วไปที่ผู้ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าทุกรายจะสามารถตรวจสอบและทราบได้ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคัดเลือก

การที่คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินการให้คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิค แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในกระบวนการคัดเลือก และอาจมีการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการพิจารณาคัดเลือกขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม

การดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการ กกพ. เรื่อง ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับพลังงานลม พ.ศ.2565 ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว มติผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย และประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการ กกพ.จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน

"หากปล่อยให้การพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารวมถึงการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ามีผลบังคับใช้ต่อไป อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้ ซึ่งมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเวลาถึง 25 ปี จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลังต่อรัฐและผู้ฟ้องคดี" คำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ