ดับฝันคอบอล! กสทช. ตัดปัญหาดราม่า ถอดฟุตบอลโลกพ้นกฎ Must Have

ข่าวทั่วไป Tuesday April 2, 2024 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง เห็นควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากประกาศมัสต์แฮฟ ที่กำหนดให้ถ่ายทอดรายการกีฬา 7 ประเภทให้ประชาชนรับชมฟรีทั่วประเทศ

"กฎมัสต์แฮฟ จะคงไว้ซึ่งทุกประเภทกีฬา ยกเว้นฟุตบอลโลก และให้มีผลทันที ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการทำเอกสาร เพื่อออกประกาศที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งสาเหตุที่ต้องตัดฟุตบอลโลกออก เพราะมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ และเป็นประเภทที่มีอุปสรรค ปัญหามาโดยตลอด" นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าว

ส่วนกฎมัสต์แครี่ (Must carry) ที่นำเสนอให้ช่วงที่มีการจัดการแข่งขันกีฬาบางประเภท เช่น โอลิมปิกเกมส์ ควรมีการอนุญาตให้ฉายเฉพาะกีฬาที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วม หรือเพียงรอบชิงชนะเลิศของทุกประเภทกีฬา เพื่อให้ประชาชนรับชมได้ฟรี ในทางกลับกัน กีฬาที่ไม่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วม เช่น การแข่งขันบาสเกตบอลระหว่างสหรัฐอเมริกากับคิวบา จะไม่ได้รับการถ่ายทอดสดในไทย เนื่องจากไม่มีการเข้าร่วมของนักกีฬาไทย แต่หากมีคุณค่าทางธุรกิจ บริษัทเอกชนอื่นๆ อาจเลือกที่จะถ่ายทอดสดได้

ทั้งนี้ สำหรับกฏมัสต์แฮฟ หรือประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 กำหนดให้รายการถ่ายทอดสดกีฬา 7 รายการ ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์ ,เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก นอกจากนี้ มีกฎควบคู่กันคือมัสต์ แครี่ (Must Carry) ที่ผู้ถือลิขสิทธิ์ จะต้องให้ผู้ชมได้รับชมผ่านทางทุกแพลตฟอร์ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว เป็นผลพวงจากเงินสนุบสนันการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก นับจากเหตุการณ์ในการประชุมของ กสทช. วันที่ 23 ม.ค.66 ที่ 4 กรรมการ กสทช. มีมติเสียงข้างมากให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ยุติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอนุมัติเงินอุดหนุนมูลค่า 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยมีการตั้งกรรมการสอบสวน นายไตรรัตน์ และให้นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ มารับตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน ซึ่งเหตุการณ์นี้ นำไปสู่การเกิดคดีความภายใน กสทช. หลายคดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ