กรมอุตุฯ ออกประกาศพิเศษชี้แจงการเกิด Storm Surge ในอ่าวไทยตอนบน

ข่าวทั่วไป Saturday August 16, 2008 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับพิเศษชี้แจงข้อเท็จจริงของการเกิดสตอมเซอจ (Storm Surge) ในอ่าวไทยตอนบน ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเกิดสตอมเซอจ คาดว่าจะเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย โดยความรุนแรงเท่ากับพายุไซโคลนนาร์กีส ก่อให้เกิดความแตกตื่นของประชาชนทั่วไปนั้น 
กรมอุตุนิยมวิทยาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจดังนี้
1.จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติในรอบ 57 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีพายุเคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทยตอนบน ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ความแรงลมของพายุมักน้อยกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2.จากการเคลื่อนตัวของพายุในอ่าวเบงกอลที่ประเทศพม่า เกิดจากลมที่มีความชื้นมาก ทำให้พายุมีกำลังแรงขึ้นก่อนขึ้นฝั่ง แต่พายุที่เคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยเกิดจากลมที่มีความชื้นน้อย ซึ่งจะทำให้พายุอ่อนกำลังลง และมีแรงลมน้อยกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3.สตอมเซอจที่เป็นอันตราย ส่วนมากเกิดจากพายุที่มีแรงลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
4.ลักษณะภูมิประเทศของพม่าเป็นแบบเปิดรับลมแรงจากพายุพัดเข้าฝั่ง ส่วนอ่าวไทยตอนบนเป็นแบบแคบและปิด รวมทั้งลมแรงที่พัดเข้าหาพายุเป็นลมที่พัดออกจากฝั่ง มิได้พัดเข้าบริเวณก้นอ่าวไทย
5.พื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยตอนบนเคยเกิดสตอมเซอจ เมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่ขึ้นฝั่งจังหวัดชุมพร ในปี 2532 และพายุไต้ฝุ่นลินดาที่ขึ้นฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2540 แต่ไม่รุนแรง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่า ถ้าจะมีพายุเคลื่อนตัวเข้ามาอีก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงมาก จะใกล้เคียงกับที่เคยเกิดจากอิทธิพลของพายุเกย์และพายุลินดา
6.จากการติดตามการก่อตัวของพายุ กรมอุตุนิยมวิทยายังไม่พบปัจจัยในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยในระยะนี้ หากพบการก่อตัวของพายุ และมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมป้องกันได้ไม่น้อยกว่า 5 วัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ