รมว.ทรัพยากรฯ สั่งเฝ้าระวัง 3 เขื่อนใหญ่หลังอ่างเก็บน้ำเข้าเกณฑ์วิกฤติ

ข่าวทั่วไป Monday September 15, 2008 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รักษาการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุที่รับได้ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำร้อยละ 85, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำร้อยละ 80 และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำร้อยละ 83 
"อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งขอเตือนประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อนให้เตรียมป้องกันและเตรียมอพยพเมื่อเกิดอุทกภัย" นางอนงค์วรรณ กล่าว
ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มบริเวณที่ราบเชิงเขา ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปีนั้น ขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม(Early Warning) ทั้งหมด 251 สถานี ครอบคลุม 598 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้
นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดคอยติดตามสถานการณ์และประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์เมขลาขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือในการเตือนภัยและประสานงานกับสื่อต่างๆ เพื่อเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบ
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเตรียมรับมือกับภัยน้ำท่วมได้เตรียมแผนไว้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำมาวิเคราะห์ โดยติดตามข้อมูลน้ำฝน น้ำท่า พายุหมุน ลมมรสุม และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้ไม่ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา แต่เหตุที่อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น เกิดจากฝนตกเฉพาะจุดมากผิดปกติ เช่น ในพื้นที่เขาใหญ่พบว่ามีปริมาณน้ำฝนเยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา
ระยะที่ 2 การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในการเกิดอุทกภัย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์อุทกภัยและความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ และได้จัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์ ในการช่วยเหลือภัยแผ่นดินถล่มเมื่อเกิดเหตุ และระยะที่ 3 เตรียมการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค โดยใช้เครื่องผลิตน้ำสะอาดเคลื่อนที่เตรียมการซ่อมแซมระบบประปาและสูบล้างบ่อน้ำตื้น พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเครื่องจักรในการขุดลอกระบายน้ำ การซ่อมแซมฝายหรืออ่างเก็บน้ำที่ชำรุดเสียหาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ