ครม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการเออรี่รีไทร์สกัด ขรก.ถูกพักราชการ-ติดโทษ

ข่าวทั่วไป Tuesday March 24, 2009 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยห้ามข้าราชการที่ถูก อ.ก.พ.-ป.ป.ช.สอบ, ถูกพักราชการ, อยู่ระหว่างลงโทษวินัยร้ายแรง หรือผู้ต้องหาขั้นคดีอาญา หมดสิทธิเข้าร่วมโครงการปี 52 พร้อมปรับจำนวนข้าราชการสูงอายุเพิ่มอีก 20%

"หลักการใหม่จะปรับเป็นไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบสวนหรือสอบหาข้อเท็จจริงทางวินัย พิจารณาโทษทางวินัย รายงานการลงโทษทางวินัย หรือพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งโทษทางวินัย หรือเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท" นายศุภรัตน์ ควรหา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ครม.เห็นชอบมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ(โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด)หรือเออรี่รีไทร์ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังพลภาครัฐ(คปร.)ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.52 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) เสนอ

การปรับเปลี่ยนจำนวนสูงสุดของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตามสัดส่วนของข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีในส่วนราชการ(จากตั้งแต่ 10% จนถึง 20% ขึ้นไปของข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไป) และใช้กลไกของ อ.ก.พ.กระทรวงในการเกลี่ยโควตาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ภายในกระทรวงโดยให้ใช้งบประมาณเงินก้อนของส่วนราชการที่ผู้เข้าร่วมมาตรการฯสังกัด

นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมการกำหนดคุณสมบัติของผู้ออกจากราชการตามโครงการฯ โดยจะต้องไม่เป็นจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการฯ ที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะผู้ที่ไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เป็นคุณสมบัติของผู้ออกจากราชการตามโครงการฯ ซึ่งจะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เงินก้อน 8-15 เท่า

ทั้งนี้ รวมไปถึงข้าราชการที่ถูกสอบสวนในชั้นอนุกรรมการ ก.พ.(อ.ก.พ.) หรือในชั้นสอบสวนขององค์กรอิสระต่างๆ โดยตามกฎหมายแล้ว ข้าราชการไม่สามารถที่จะลาออกก่อนได้หาอยู่ในระหว่างการสอบสวน

แหล่งข่าว กล่าวว่า หลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นเพื่อป้องกันข้าราชการที่กำลังถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบสวนหรือสอบหาข้อเท็จจริงทางวินัย พิจารณาโทษทางวินัย รายงานการลงโทษทางวินัย หรือพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งโทษทางวินัย หรือเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเพราะจะขัดต่อหลักการของโครงการฯ

สำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการและประมาณการงบประมาณในปีงบประมาณ 2552 สำหรับข้าราชการจำนวน 13,883 คน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 7,590.9 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายเงินบำเหน็จ 1,579.1 ล้านบาท เป็นการจ่ายเงินบำนาญ 2,072 ล้านบาท และเป็นเงินค่าบำเหน็จดำรงชีพ 2,718.6 ล้านบาท

ผู้เข้าร่วมโครงการในส่วนที่ 1 และ 2 ที่ ครม.มีมติให้ส่วนราชการปรับเปลี่ยนสถานภาพโดยออกจากระบบราชการ และส่วนราชการประสงค์จะยุบเลิกบางภารกิจ ไม่มีการกำหนดจำนวนของกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมมาตรการ ซึ่งใช้งบกลางดำเนินการ โดยจะยุบตำแหน่งนั้นไปตามผู้เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่ส่วนที่ 3 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 424 คน จากส่วนราชการที่มีอัตรากำลังเกิน โดยกำหนดไว้ไม่เกิน 10% ของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งบประมาณภายในวงเงินงบบุคลากรที่ได้รับจัดสรรจำนวน 195.2 ล้านบาท และให้ยุบตำแหน่งของผู้เข้าร่วมโครงการ

ส่วนที่ 4 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1,205 คน ในส่วนราชการที่มีอัตรากำลังเหมาะสมกับบทบาท ภารกิจ แต่มีประเด็นจำนวนข้าราชการสูงอายุ(50 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละที่กำหนดโดยปรับจำนวนสูงสุดของผู้เข้าร่วมโครงการฯ (โควตา) ตามสัดส่วนของข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีในส่วนราชการ(จากอัตรา 10% จนถึง 20% ขึ้นไปของข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไป) โดยให้ อ.ก.พ.กระทรวงพิจารณาเกลี่ยจำนวนผู้เข้าร่วม ใช้งบประมาณภายในวงเงินงบบุคลากรที่ได้รับจัดสรรจำนวน 456.6 ล้านบาทโดยจะไม่ยุบตำแหน่งแต่ส่วนราชการจะต้องไม่มีการจ้างผู้ที่เข้าร่วมมาตรการในลักษณะการจ้างกำลังคนประเภทอื่น

และส่วนที่ 5 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 12,254 คน ในส่วนราชการที่มีอัตรากำลังไม่เพียงพอแก่การทำงานตามบทบาท ภารกิจ และมีประเด็นจำนวนข้าราชการสูงสุดอายุ(50 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละที่กำหนดโดยปรับจำนวนสูงสุดของผู้เข้าร่วมโครงการฯ(โควตา) ตามสัดส่วนของข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีในส่วนราชการ(จากอัตรา 10% จนถึง 20% ขึ้นไปของข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไป) โดยให้ อ.ก.พ.กระทรวงพิจารณาเกลี่ยจำนวนผู้เข้าร่วม ใช้งบประมาณภายในวงเงินงบบุคลากรที่ได้รับจัดสรรจำนวน 6,939 ล้านบาท โดยจะไม่ยุบตำแหน่งแต่ส่วนราชการจะต้องไม่มีการจ้างผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในลักษณะการจ้างกำลังคนประเภทอื่น

รายงานข่าว แจ้งว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ได้มีการปรับปรุงระบบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญจากระบบจำแนกตำแหน่งตามระดับมาตรฐานกลาง 11 ระดับ เป็นกำหนดให้จำแนกตำแหน่งตามลักษณะของประเภทตำแหน่งออกเป็น 4 ประเภทนั้น เมื่อพิจารณาตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ข้าราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ ข้าราชการตำแหน่งกระดับปฏิบัติการ และข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไปมีอัตราบัญชีเงินเดือน ดังนี้

ข้าราชการตำแหน่งประเภทบริหารและประเภทผู้อำนวยการ เช่น ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดี ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงาน มีอัตราตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำสุดที่ 23,230 บาทต่อเดือน และ 18,910 บาทต่อเดือน

ส่วนข้าราชการตำแหน่งวิชาการ ระดับปฏิบัติการ และทั่วไป ข้าราชการระดับปฏิบัติการ(เงินเดือนขั้นต่ำชั่วคราว) ที่ 6,800 บาท และระดับปฏิบัติการ(เงินเดือนขั้นต่ำ) ที่ 7,940 บาท ข้าราชการระดับชำนาญการ(เงินเดือนขั้นต่ำชั่วคราว) ที่ 12,530 บาทต่อเดือน และระดับชำนาญการ(เงินเดือนขั้นต่ำ) ที่ 14,330 บาทต่อเดือน

ขณะที่ข้าราชการตำแหน่งวิชาการที่เหลือ ทั้งระดับปฏิบัติการ(ขั้นสูง) ระดับชำนาญการ(ขั้นสูง) ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำสุดที่ 18,910 บาทต่อเดือน

สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญในระดับล่าง คือ ระดับทั่วไป ประกอบด้วย ระดับปฏิบัติการ(เงินเดือนขั้นต่ำ) ที่ 4,630 บาทต่อเดือน ระดับชำนาญงาน(เงินเดือนขั้นต่ำ) ที่10,190 บาทต่อเดือน ข้าราชการประเภทอาวุโส และข้าราชการประเภททักษะพิเศษ ที่มีขั้นเงินเดือนขั้นต่ำที่ 15,410 บาทต่อเดือน และ 48,220 บาทต่อเดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ