รมว.แรงงาน ยืนยันไม่ทบทวนนโยบายลดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม

ข่าวทั่วไป Monday May 25, 2009 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.แรงงาน ยืนยันไม่ทบทวนนโยบายลดเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคมหลังหลายฝ่ายรุมค้าน โดยระบุทั้งนายจ้างลูกจ้างได้ประโยชน์และเคยใช้ได้ผลเหมือนเมื่อครั้งเกิดวิกฤตปี 40 ด้านองค์กรแรงงานยื่นหนังสือค้านหวั่นส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนฯ ในอนาคต

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง "การลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างลูกจ้าง ใครได้ประโยชน์-ใครเสียประโยชน์"จัดโดยคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภาว่า จะไม่ทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ สามารถช่วยให้นายจ้างมีเงินทุนในการประกอบกิจการได้นานขึ้น โดยไม่ต้องปลดคนงาน ขณะที่ลูกจ้างจะมีเงินมาใช้สอยในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น

นโยบายนี้เคยใช้ได้ผลเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะเดียวกันจะไม่ส่งผลกระทบกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยเฉพาะกองทุนชราภาพตามที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง

มติ ครม.เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่คณะกรรมการประกันสังคม(สปส.) เสนอการลดอัตราเงินสมทบส่งเข้ากองทุนประกันสังคม โดยให้นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน ลดการจ่ายเงินสมทบ จากฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างเหลือ 3% ของค่าจ้าง ส่วนรัฐบาลยังจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราเดิมคือ 2.75% ของค่าจ้าง

การลดอัตราเงินสมทบประโยชน์ทดแทนดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 579,235 คน จากข้อมูล ณ มี.ค.52 ลดจำนวนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประมาณคนละ 192 บาท/เดือน

ก่อนการสัมมนา น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้ยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วย แม้ผู้เกี่ยวข้องจะยืนยันว่าผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิม แต่เงินกองทุนชราภาพจะหายไปกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของกองทุนฯ ในอนาคต และยังไม่มีใครกล้าออกมารับประกัน

ขณะเดียวกันเงินที่หายไปหากนำมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนด้านอื่นๆ เช่น จ่ายเป็นเงินประกันว่างงานให้กับลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปี แต่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับสิทธิว่างงานจะมีประโยชน์มากกว่า

ส่วนที่อ้างว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยชะลอไม่ให้เกิดการเลิกจ้างและช่วยไม่ให้เงินกองทุนประกันสังคมต้องหายไปกว่า 30,000 ล้านบาทนั้นก็ยังไม่มีรายงานยืนยันชัดเจนว่าจะช่วยชะลอการเลิกจ้างได้จริงหรือไม่

ขณะที่นางวิจิตรา วิเชียรชม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากมองในภาพรวมแล้วเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะการลดเงินสมทบฯ จะช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ แต่นายจ้างจะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินกิจการ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นายจ้างนำไปแก้ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ส่วนที่ลูกจ้างกังวลจะส่งผลกระทบเรื่องการจ่ายประโยชน์ทดแทนนั้นยังไม่พบว่าจะเกิดผลกระทบได้อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ