ประชาสังคมร้องรมต.ตปท.อาเซียนสร้างกลไกให้อำนาจคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ข่าวต่างประเทศ Friday July 17, 2009 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ แสดงท่าทีต่อความกังวลถึงการพิจารณากลไกอำนาจในการก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยภาคประชาสังคม 10 ประเทศได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 16-23 ก.ค.นี้ พิจารณาการสร้างกลไกอำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงการพูดถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ไม่มีการให้อำนาจกับองค์กรในการคุ้มครองสิทธิ

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยโครงการความร่วมมือการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย ระยะที่ 2

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะมีการแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42, แผนงานอาเซียนว่าด้วยการคงไว้และยกระดับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน, เอกสารแนวทางการเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ.1976, ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน และระเบียบการปฏิบัติของคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

ส่วนการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จะมีการรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา, การจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา

รายงานข่าวระบุว่า ในครั้งนี้จะมีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการออกถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, เอกสารการปรับปรุงวิธีการทำงานของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, แผนงานสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ปี 52-53 และแผนงานสำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ ปี 52-54

ขณะที่ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะมีการออกแถลงการณ์ของประธานอาเซียนว่าด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศคู่เจรจา, แถลงการณ์ว่าด้วยการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16, แถลงการณ์ว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 10 และแถลงการณ์ว่าด้วยการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

พร้อมกันนี้ ยังจะมีแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้สะท้อนถึงประเด็นสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของไทย ประชาชนชาวไทยและอาเซียนโดยรวม ประกอบด้วย การผลักดันการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนและการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 58 เช่น การจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน การลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาคและการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพความมั่นคง การพัฒนา และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม ภายใต้การดำเนินการตามแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม

ตลอดจนการผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชนชน เช่น การบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงินของโลก, การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร, การป้องกันและควบคุมโรคระบาด ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน

อนึ่งการประชุมอาเซียนที่ จ.ภูเก็ต ในครั้งนี้ ประกอบด้วยการประชุมสำคัญ 3 คณะ คือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน, การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ