นายกฯ ชี้ฝ่ายบริหาร-ก.ตร.กลับคำวินิจฉัย ป.ป.ช.ชี้มูลบิ๊กสีกากีไม่ได้

ข่าวทั่วไป Sunday January 10, 2010 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้ฝ่ายบริหารหรือคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ไม่มีอำนาจไปกลับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ(ป.ป.ช.) ที่ให้ไล่ออก พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี แต่ทำได้เพียงขออุทธรณ์จากไล่ออกเป็นปลดออก แนะทางออกให้ร้องศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจกลับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ได้

"เมื่อกระบวนการตรงนี้สิ้นสุดลง บุคคลเหล่านี้สามารถไปร้องต่อศาลปกครองได้ แต่ในส่วนของฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจไปกลับคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ แต่ถ้าเป็นศาลปกครองนั้นทำได้เพราะเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวดังกล่าวแล้ว ตนเองจึงได้ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยค้นข้อกฎหมาย เพราะจำได้ว่าเคยมีปัญหาทำนองนี้ ซึ่งได้ทำความเห็นแจ้งมาชัดเจนว่า เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ว่า การอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคลจะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลยพินิจในการสั่งลงโทษเท่านั้นจะไปกลับข้อเท็จจริงหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้ เช่น หากผลสอบออกมาว่าผิดวินัยร้ายแรง และมีการลงโทษไล่ออก อาจจะอุทธรณ์ให้เป็นปลดออกได้ ซึ่งตนเองจะแจ้งความเห็นดังกล่าวให้นายสุเทพในฐานะประธาน ก.ตร.ทราบภายในวันพรุ่งนี้(11 ม.ค.)

"คงต้องให้ท่านรองนายกฯ(สุเทพ เทือกสุบรรณ) แจ้ง ก.ตร.ไปทบทวนเรื่องนี้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องทำนองนี้ไปแล้วกรณีอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่เคยทำแบบเดียวกัน คือ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา ก.พ.ลงโทษ แล้วไปอุทธรณ์ แต่กลับเกินเลยไปก้าวล่วงดุลยพินิจของ ป.ป.ช. เมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลบอกว่าไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

โดยช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก.ตร.มีมติว่านายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลให้ไล่ออก และเตรียมส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีทราบ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่รับนายตำรวจคนดังกล่าวกลับเข้ารับราชการอีก แต่บุคคลเหล่านี้สามารถขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้ ซึ่งในอดีตเคยมีกรณีที่ศาลปกครองกลับคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจาก ป.ป.ช.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ