กทม.เล็งติดสติ๊กเกอร์ป้ายผิดกม.เตือนผู้ประกอบการรื้อถอน-จ่ายภาษีให้ถูก

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2010 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่ตรวจป้ายผิดกฎหมายที่ติดตั้งในที่สาธารณะ พร้อมปิดสติ๊กเกอร์ "ป้ายผิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ศ.2535" เพื่อเป็นมาตรการทางสังคมในการแจ้งเตือนผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ ที่ฝ่าฝืนติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้ายตามกฎหมาย

โดย กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักเทศกิจระดมปิดสติ๊กเกอร์ป้ายผิดกฎหมายฯ บนป้ายที่ฝ่าฝืน พร้อมทั้งรณรงค์ตลอดเดือนมี.ค. ให้เจ้าของป้ายจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย รวมถึงยื่นแบบเสียภาษีป้ายให้ถูกต้อง

สำหรับบางพื้นที่ที่ยังคงมีป้ายโฆษณาผิดกฎหมายเหลืออยู่นั้น หลังจากวันที่ 15 เม.ย.เป็นต้นไป กทม.จะปิดสติ๊กเกอร์ "ป้ายผิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510" เพื่อประกาศให้สาธารณะรับทราบว่าป้ายเหล่านี้เป็นป้ายผิดกฎหมาย อีกทั้งผู้ประกอบการตั้งใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ถูกต้องทั้งที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจในแต่ละปีกว่า 10,000 ล้านบาท ถือเป็นการเอาเปรียบภาครัฐและประชาชนผู้เสียภาษีถูกต้อง ซึ่ง กทม.จะมีหนังสือถึงผู้ประกอบการรายที่ฝ่าฝืนเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับสูงสุดตามกฎหมายต่อไป

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและจัดระเบียบเมืองตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 - 9 เดือนที่ผ่านมา กทม.ได้รณรงค์จัดเก็บป้ายผิดกฎหมายในที่สาธารณะตามโครงการ "1 ป้าย 1 บาท" ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพฯ และสามารถจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมายได้กว่า 300,000 ป้าย ทำให้ป้ายโฆษณาผิดกฎหมายในที่สาธารณะลดลงเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ กทม.จะยังคงเดินหน้ามาตรการดังกล่าว โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บจนครบฤดูกาลจัดเก็บภาษี สำหรับผู้ที่ยังไม่เสียภาษีป้ายขอให้เร่งยื่นแบบเสียภาษีป้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. โดย กทม.จะมอบสติ๊กเกอร์ภาษีป้าย 2553 ซึ่งจะมีเลขรหัสการเสียภาษีให้แก่เจ้าของป้าย เพื่อนำไปปิดบริเวณป้ายโฆษณาเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นป้ายที่เสียภาษีถูกต้องด้วย

อนึ่ง จากสถิติการจัดเก็บภาษีปีที่ผ่านสามารถจัดเก็บได้เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งหากจัดเก็บได้ครบจำนวนตามที่ตั้งเป้าไว้คาดว่า กทม.จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ