เอแบคโพลล์ เผยความจงรักภักดีช่วยคนไทยมีสุขมากขึ้นแต่หวั่นการเมืองถ่วง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 10, 2010 09:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยดัชนีความสุขของคนไทยวันนี้อยู่ที่ 7.15 จากคะแนนเต็ม 10 ดีขึ้นจากการสำรวจในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยคะแนนความสุขต่อความจงรักภักดีนำโด่งอยู่ที่ 9.05 ขณะที่ความสุขต่อสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวมอยู่ที่ 4.95 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าความสุขด้านอื่นๆ

"ช่วงหลังคดียึดทรัพย์และประชาชนเห็นว่าไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทย พบว่า ความสุขของคนไทยวันนี้อยู่ที่ 7.15 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research:ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึงผลวิจัยเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกับความสุขมวลรวมของคนไทยวันนี้

ส่วนความสุขด้านอื่นๆ ของประชาชน พบว่า ความสุขที่เป็นรองจากความจงรักภักดี คือ ความสุขต่อบรรยากาศของคนในครอบครัวอยู่ที่ 8.31 คะแนน, ความสุขต่อสุขภาพกายอยู่ที่ 7.98, ความสุขต่อสุขภาพใจอยู่ที่ 7.96, ความสุขต่อหน้าที่การงานและอาชีพอยู่ที่ 7.73, ความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีไทยอยู่ที่ 7.52, ความสุขต่อสภาพแวดล้อมที่พักอาศัย อาทิ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา อยู่ที่ 7.50, ความสุขต่อการได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีอยู่ที่ 7.41, ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่พักอาศัยอยู่ที่ 7.11,

ความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน 7.08, ความสุขต่อระบบการศึกษาของประเทศอยู่ที่ 6.95, ความสุขต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย และเด็กไทยในสายตาคนต่างชาติอยู่ที่ 6.18, ความสุขต่อความเป็นธรรม/ไม่เป็นทางสังคมที่ได้รับอยู่ที่ 6.02 ขณะที่ความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 5.65

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความสุขมวลรวมของคนในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาน่าจะมาจากการที่คนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งความรักความเอื้ออาทรของคนในครอบครัว

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยขณะนี้คือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทำให้ความสุขของคนไทยลดลงมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาความเครียดและวิตกกังวลว่าจะได้รับความเดือดร้อน หากเกิดเหตุรุนแรงบานปลายจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่กำลังจะมีขึ้น" นายนพดล กล่าว

ผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับความเดือดร้อนหากสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล และฝ่ายค้านในการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อสร้างความรักความสามัคคีมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง รวมไปถึงการสร้างความเป็นธรรมในสังคมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ความสุขของคนไทยลดลงเช่นเดียวกัน

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ในสภาวะที่สังคมกำลังเกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประชาชนทุกคนควรตั้งสติ ยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง ใช้การประนีประนอม มีน้ำใจไมตรีต่อกัน หันหน้าเจราจากัน และไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมเสนอแนะให้ใช้วิจารณญาณในการติดตามข้อมูลข่าวสาร รู้จักยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ และเคารพกฏกติกาของบ้านเมือง

"ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความรักความสามัคคี และให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยเฉพาะกลุ่มการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองควรยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยให้ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงประชาชนที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์การเมืองและฐานะทางสังคมให้เป็นเอกภาพ

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัด จำนวน 1,962 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-9 มี.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ