ก.เกษตรฯชี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Friday April 23, 2010 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางขณะนี้ว่า มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 39,179 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯทั้งหมด โดยเขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 4,983 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯทั้งหมด เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 3,692 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯทั้งหมด สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ ที่วางแผนใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมกันจำนวน 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ในกิจกรรมต่างๆตามลำดับดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,836 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,539 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเกษตรกรรม 13,176 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อการอุตสาหกรรม 169 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันทั่วประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 21,427 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนจัดสรรน้ำ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำที่ใช้เกินแผนไปแล้ว 707 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ร่วมกับการใช้น้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็นปริมาณน้ำทั้งสิ้น 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น ล่าสุดมีการใช้น้ำไปแล้ว 9,893 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินแผนที่วางไว้ 1,893 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 124 ของแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการลดการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงเหลือวันละประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงเดือนเมษายนนี้ ทำให้ปริมาณน้ำในคลองส่งน้ำสายต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างลดลงตามไปด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกโครงการฯ ไปดำเนินการชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงต่อเกษตรกรแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะทำการลดการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสองแห่งดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบข้อเท็จจริงและเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ยืนยันว่าการใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานนั้น มีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่ขาดแคลน แต่จะไม่มีน้ำสำหรับสนับสนุนการทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างแน่นอน จึงขอให้เกษตรกรที่จะทำนาปรังครั้งที่ 2 พิจารณาถึงผลกระทบที่จะได้รับตามมาด้วย

พร้อมกันนี้ ได้เตรียมแผนการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ถึงพ.ค. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมแผนการรองรับกรณีปริมาณฝนที่อาจจะมีปริมาณน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากผลกระทบของการเกิดเอนีโญ ขณะเดียวกันยังสั่งการให้กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวน 1,200 เครื่อง และรถยนต์บรรทุกน้ำอีกจำนวน 295 คัน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ หากได้รับการร้องขอ ปัจจุบันได้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือทั่วประเทศแล้ว จำนวน 713 เครื่อง ในพื้นที่ 40 จังหวัด และรถยนต์บรรทุกน้ำ 17 คัน ในพื้นที่ 3 จังหวัด.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ