อีสานครองแชมป์เรื่องทำเกษตร หลังประชากรถือครองที่ดินทำเกษตรเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Wednesday June 2, 2010 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ 4 ของการสำรวจ

พบว่า จากการสำรวจประเทศไทยมีผู้ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 5.8 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ถือครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 2.7 ล้านราย (ร้อยละ 46.6) รองลงมาคือ ภาคเหนือมีจำนวน 1.3 ล้านราย (ร้อยละ 23.0) สำหรับภาคใต้มีจำนวน 9.4 แสนราย (ร้อยละ 16.2) และภาคกลางมีผู้ถือครองน้อยที่สุดจำนวน 8.3 แสนราย (ร้อยละ 14.2)

ในด้านการสำรวจเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 112.6 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่ในการถือครองเพื่อทำการเกษตรมากที่สุด คือ 53.1ล้านไร่ (ร้อยละ 47.1) รองลงมาคือภาคเหนือ 25.8 ล้านไร่ (ร้อยละ 22.9) สำหรับภาคกลางมี 19.1 ล้านไร่ (ร้อยละ 17.0) และภาคใต้มีเนื้อที่ถือครองน้อยที่สุดคือ 14.6 ล้านไร่ (ร้อยละ 13.0)

เมื่อพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากปี 2546 พบว่า จำนวนผู้ถือครองทำการเกษตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นจำนวน 5,181 ราย (ร้อยละ 0.1) แต่หากพิจารณาเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรจากปี 2546 พบว่า ลดลงเล็กน้อยคือ 51,073 ไร่ (ร้อยละ 0.1) ขณะที่ผู้ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทยยังคงมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรโดยเฉลี่ยเท่ากับปี 2546 คือ 19.4 ไร่

นางจีราวรรณ ยังกล่าวอีกว่า ผู้ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทยเกินครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51.6) มีเนื้อที่ถือครองขนาด 10 - 39 ไร่ รองลงมา เป็นผู้ถือครองที่มีเนื้อที่ขนาดต่ำกว่า 6 ไร่ (ร้อยละ 24.6) สำหรับผู้ถือครองทำการเกษตรที่ถือครองเนื้อที่ขนาดใหญ่ (140 ไร่ขึ้นไป) มีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ถือครองเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือผู้ที่ถือครองเนื้อที่ขนาดเล็กต่ำกว่า 6 ไร่ (58,873 ราย หรือ ร้อยละ 4.3)

ผู้ถือครองทำการเกษตรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75.8) ทำการเกษตรในเนื้อที่ของตนเองอย่างเดียว ผู้ถือครองร้อยละ 15.8 ทำการเกษตรในเนื้อที่ของตนเองและทำการเกษตรในเนื้อที่ของผู้อื่นด้วย สำหรับผู้ที่ทำการเกษตรโดยไม่มีเนื้อที่ถือครองเป็นของตนเองเลยมีร้อยละ 8.4

ทั้งนี้ การครอบครองเอกสารสิทธิ์1/ ในเนื้อที่ของตนเอง (87.6 ล้านไร่) ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.6) มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด/ ตราจอง/ นส.5/ นส.3/ และ นส.3 ก และ (ร้อยละ 23.5) เป็นการครอบครองเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐ เช่น สปก.4-01/ นค./ สทก./ กสน./ นส.2/ สค.1

จากเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งประเทศ 112.6 ล้านไร่ พบว่า เนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.6) เป็นที่ปลูกข้าว รองลงมาเป็นที่ปลูกพืชไร่ (ร้อยละ 19.7) ที่ปลูกยางพารา (ร้อยละ 12.1) และที่ปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล และสวนป่า (ร้อยละ 10.5) ตามลำดับ

สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชพบว่า ผู้ถือครองที่ปลูกพืชร้อยละ 59.9 มีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และวิธีการที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นการใช้สารเคมี (ร้อยละ 51.4)

เมื่อพิจารณาลักษณะการทำงานของสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป พบว่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 77.6) ทำงานเชิงเศรษฐกิจ โดยเป็นผู้ที่ทำงานเกษตรในที่ถือครองมากถึงร้อยละ 71.6 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ทำงานเกษตรในที่ถือครองอย่างเดียวร้อยละ 34.0 ทำงานเกษตรในที่ถือครองและทำงานอื่นด้วยร้อยละ 37.6 ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ทำงานเกษตรในที่ถือครองเลยมีเพียงร้อยละ 5.9 และมีข้อสังเกตว่า สัดส่วนของผู้ที่ทำงานเกษตรในที่ถือครองอย่างเดียวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 46.7 เป็น 37.1 และ 34.0 ในปี 2541 2546 และ 2551 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ถือครองทำการเกษตรเพียงร้อยละ 23.6 มีรายได้ของครัวเรือนมาจากการทำการเกษตรอย่างเดียว ขณะที่ผู้ที่มีรายได้จากการทำการเกษตรและจากแหล่งอื่นด้วยมีถึงร้อยละ 76.4 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือน ผู้ถือครองทำการเกษตรต้องพึ่งพิงรายได้จากแหล่งอื่นนอกจากการเกษตรด้วย ผู้ถือครอง มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในช่วง 20,001 - 50,000 บาทมากที่สุด (ร้อยละ 29.3) รองลงมาคือ รายได้ 50,001 - 100,000 และ 100,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 22.7 และ 20.1 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาหนี้สินของครัวเรือนผู้ถือครอง พบว่า ผู้ถือครองเกินครึ่งหนึ่งมีหนี้สินเพื่อการเกษตร (ร้อยละ 59.9) โดยมีจำนวนเงินที่เป็นหนี้เพื่อการเกษตรทั้งสิ้น 364,575 ล้านบาท และพบว่าจำนวนเงินที่เป็นหนี้เกินครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 63.5) มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเ กษตร และร้อยละ 9.9 เป็นเงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ