นายกฯ ตั้งเป้าประชาชนสนับสนุนแผนปรองดองเกิน 95% เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จ

ข่าวทั่วไป Friday June 11, 2010 18:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง "ความมั่นคงและความมั่งคั่งของชาติ และทิศทางในอนาคต" โดยระบุว่า ในแผนการปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศมากกว่า 95% ขึ้นไปถึงจะเห็นการเดินหน้าตามแผนการปรองดองได้จริง เพราะแม้ขณะนี้ผลการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันต่างๆ จะออกมาว่ามีประชาชนให้การสนับสนุน 70-80% แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือมากกว่านี้

พร้อมเชื่อมั่นว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการความสงบ มีคนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่ต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องชักจูงไม่ให้คนส่วนน้อยเหล่านี้มาทำให้เกิดความไขว้เขวขึ้นได้

"ผมบอกไม่ได้ว่าแผนปรองดอง 5 ข้อจะไปสู่ความสำเร็จ แต่ผมพยายามจะเอาปมมาคลี่ แม้ผลโพลที่ออกมาจะสนับสนุนผลปรองดอง 70-80% ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ เราต้องทำให้ได้ 95% ขึ้นไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังมีความหวังและมั่นใจในศักยภาพของคนไทย โดยวัดได้จาก 1.พื้นฐานความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าขณะนี้จะผ่านเหตุการณ์ที่ยากลำบากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ถือได้ว่าโตขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก และแม้จะผ่านเหตุความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำไปมากนัก

2.หลังจากเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53 ได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันฟื้นฟูและบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ และ 3.มั่นใจว่าหลังจากเกิดวิกฤติในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวมีความใส่ใจในส่วนรวมเรื่องจิตอาสามากขึ้น

"เรื่องปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ คงจะไม่สามารถแก้ไขได้แต่เพียงกติกาทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องไปแก้ไขที่พฤติกรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่าในวันนี้วัฒนธรรมทางการเมือง คนในประเทศมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันสุดโต่ง จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งลุกลามออกไปในวงกว้าง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้จำเป็นต้องให้ทุกคนกลับมาร่วมมือกัน กลับมาสู่ความปรองดองในประเทศ และต้องรักษาไม่ให้ระยะห่างของความแตกต่างทางสังคมเพิ่มมากไปกว่านี้

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น เกิดจากการบ่มเพาะของปัญหาในหลายส่วนที่มีความเกี่ยวพันกันทางด้านมิติที่เชื่อมโยงกับภัยคุกคามรอบๆ ด้าน ในอดีตเราอาจเข้าใจเพียงว่าภัยคุกคามในรูปแบบเก่า คือ การก่อความไม่สงบตามชายแดน แต่ปัจจุบันภัยคุกคามเกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จนนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมืองและถือว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ชัดว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วง 10 ปีหลัง ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับแผนพัฒนาฯ มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าในสังคมปัจจุบันประเทศไทยได้เผชิญกับความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้คนในสังคมปรับตัวไม่ทัน แต่ยังเชื่อว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะมีส่วนช่วยในการดูแลสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า ความมั่งคั่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนในสังคมได้พยายามจะช่วยทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ