กรมป้องกันภัยฯ เผยพื้นที่ประสบภัยแล้งลดลงหลังฝนตก แต่ปริมาณน้ำยังน้อย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 21, 2010 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 27 จังหวัด 175 อำเภอ 1,264 ตำบล 12,054 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 3,874,719 คน 997,551 ครัวเรือน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน ลำปาง ลำพูน พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี รวม 66 อำเภอ 420 ตำบล 3,475 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 783,589 คน 243,121 ครัวเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี รวม 95 อำเภอ 747 ตำบล 7,782 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 2,754,581 คน 693,902 ครัวเรือน

ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี รวม 14 อำเภอ 97 ตำบล 797 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 336,549 คน 60,528 ครัวเรือน

คาดว่าพื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหาย รวม 1,183,834 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 916,784 ไร่ นาข้าว 89,313 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 177,737 ไร่ ในพื้นที่ 45 จังหวัด หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2553 ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 27 จังหวัด 189 อำเภอ 1,363 ตำบล 12,348 หมู่บ้าน แต่เนื่องจากมีฝนตกทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้จำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง ลดลง จำนวน 294 หมู่บ้าน โดยช่วงระหว่างวันที่ 12 — 19 เมษายน 2553 เป็นช่วงที่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด จำนวน 60 จังหวัด 463 อำเภอ 24,248 หมู่บ้าน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในเบื้องต้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 552 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 255,884,614 ลิตร ซ่อมทำนบและฝายกั้นน้ำ 732 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ 696 แห่ง

ทั้งนี้ จากการติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า แม้จะเริ่มมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่แต่ส่วนใหญ่ตกบริเวณท้ายเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ยังมีปริมาณน้อยมาก ประกอบกับต้องระบายน้ำออกเพื่อรักษาระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภค ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนประชาชนให้ร่วมกันประหยัดน้ำ ไม่ปล่อยน้ำไหลทิ้ง

ส่วนเกษตรกรให้ติดตามสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ สภาพอากาศ รวมถึงปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จะได้วางแผนการเพาะปลูกได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ และกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤติ หากอาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนา โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้เลื่อนการทำนาปีออกไปอีกจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ