นิด้าโพล เผยไทยอยากผลักดันเขมรออกจากพื้นที่-คว่ำ MOU เหตุไทยเสียเปรียบ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 2010 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เกือบ 70% เห็นด้วยหากรัฐบาลจะผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ของไทยโดยวิธีทางทหารและทางการทูต เนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่ของไทย ควรจะรักษาปกป้องอธิปไตยไว้ และเป็นการลดปัญหาชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างสันติวิธี

ขณะที่ประชาชนอีก 21.62% ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศสั่นคลอน อาจจะนำไปสู่สงครามสงครามระหว่างประเทศได้ ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง และชาวบ้านก็ยังมีการติดต่อค้าขายกันอยู่ตามบริเวณชายแดนหรือด่านต่างๆ ส่วนที่เหลือ 8.83% ไม่แน่ใจ เพราะไม่ค่อยได้ติดตามข่าว อีกทั้งต้องรอดูท่าทีของทั้งสองฝ่ายในเบื้องต้นก่อน

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ประชาชน 40.60% เห็นด้วย เพราะไทยเสียเปรียบในเรื่องของดินแดน ควรหารือจัดทำเขตแดนใหม่ให้ชัดเจนทั้งสองฝ่าย ส่วนอีก 32.13% ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการป้องกันมิให้ฝ่ายกัมพูชาเข้ามายุ่งเกี่ยวบริเวณพื้นที่ทับซ้อนได้ และอาจจะทำให้เรื่องบานปลาย และอีก 27.27% ระบุว่าไม่แน่ใจ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดของหนังสือดังกล่าว และยังสับสนในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนโดยเฉพาะแผนที่ที่ต่างฝ่ายต่างยึดเป็นแนวแบ่งเขตดินแดนของตนเอง

ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 63.55% ไม่เห็นด้วยหากไทยจะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก หรือยกเลิกการเป็นสมาชิกกับยูเนสโก เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่า ไทยอาจจะเสียผลประโยชน์ในเรื่องของการดูแล รักษามรดกโลกที่อยู่ในไทย ขณะที่อีก 19.86% เห็นด้วย เพราะไทยสามารถดูแลจัดการสถานที่ที่เป็นมรดกโลกเองได้ และไม่น่ามีผลเสียอะไรมาก

พร้อมกันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยหากรัฐบาลไทยจะให้ศาลโลกทบทวนและพิจารณาอีกครั้ง ในการตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา เพราะเห็นว่าเป็นการตัดสินค่อนข้างไม่ยุติธรรม ทำให้ไทยเสียเปรียบมาก และเพื่อเป็นการปกป้องการเสียดินแดนไทย ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าศาลโลกได้ตัดสินไปแล้ว ไม่ควรนำมารื้อฟื้น และอาจทำให้เรื่องบานปลาย ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง

ผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 77.93% เห็นว่ารัฐบาลควรนำเรื่องเขาพระวิหารเข้าสภาเป็นวาระแห่งชาติ เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่สำคัญมาก เสี่ยงต่อการเสียพื้นที่ดินแดน จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,133 คน ในระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ