โพลล์ชี้คนไม่เชื่อ ตร.จะเลิกใส่เกียร์ว่าง-คุมอาชญากรรม-เป็นที่พึ่งได้

ข่าวทั่วไป Tuesday September 14, 2010 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยประชาชนไม่เชื่อว่านโยบายที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)คนใหม่ประกาศไว้จะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ทั้งหมด โดยมีนโยบายเพียง 2 ใน 5 ด้านเท่านั้นที่เชื่อว่าจะทำได้ คือ การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปรับปรุงระบบการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

"นโยบาย 5 ด้านที่ประกาศ มีเพียง 2 ด้านที่ประชาชนเชื่อว่าจะทำได้ คือ ตำรวจจะพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิด ถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติสูงสุด โดยจะปฏิบัติให้เห็นผลทันที(มีผู้เชื่อว่าทำได้ร้อยละ 70.1) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเดินหน้าอย่างมีทิศทางโดยยกระดับตำรวจให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ปรับปรุง ทบทวน และพัฒนาระบบการทำงานโดยใช้ยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง โดยจะปฏิบัติให้เห็นผลภายในระยะเวลา 1-3 ปี(มีผู้เชื่อว่าทำได้ร้อยละ 61.2)" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนนโยบายอีก 3 ด้านที่ประชาชนเชื่อว่าทำไม่ได้ คือ ตำรวจทุกนายจะใส่ใจบริการประชาชนไม่ใส่เกียร์ว่าง เลิกรับส่วย สินบน และข่มขู่รีดไถ โดยจะปฏิบัติให้เห็นผลทันที ซึ่งมีประชาชนเชื่อว่าทำไม่ได้ร้อยละ 81.6 รองลงมาคือ ตำรวจจะต้องสามารถควบคุมปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคมทั่วไป ให้อยู่ในภาวะไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน โดยจะปฏิบัติให้เห็นผลภายในระยะเวลา 1 ปี มีประชาชนเชื่อว่าทำไม่ได้ร้อยละ 64.5 และตำรวจต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีกิริยา วาจาสุภาพ ยิ้มแย้ม แจ่มใส เมื่อประชาชนมาขอความช่วยเหลือ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างข้าราชการตำรวจทุกระดับชั้นและเสริมสร้างสำนึกการทำประโยชน์ เพื่อส่วนรวม โดยปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน โดยจะปฏิบัติให้เห็นผลภายในระยะเวลา 6 เดือน มีประชาชนเชื่อว่าทำไม่ได้ร้อยละ 60.4

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 56.2 ยังเห็นว่าความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ โดยใช้ระบบคุณธรรมและอาวุโสเพื่อแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

สำหรับภาพลักษณ์ของตำรวจไทยหลังมี ผบ.ตร.คนใหม่แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.1 เห็นว่าภาพลักษณ์ตำรวจยังคงเหมือนเดิม มีเพียงร้อยละ 25.2 ที่เห็นว่าภาพลักษณ์ดีขึ้น และอีกร้อยละ 4.7 คิดว่าภาพลักษณ์แย่ลง

ขณะที่อุปสรรคในการพัฒนาการทำงานของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ คือ การไม่มีจิตสำนึกในหน้าที่ของตน ร้อยละ 26.9 รองลงมาคือ ค่านิยมในแวดวงตำรวจ เช่น การใช้อำนาจข่มขู่ รีดไถ รับสินบน ร้อยละ 22.5 และการถูกแทรกแซงจากภาคการเมือง ร้อยละ 21.6

ส่วนปัญหาที่ต้องการให้ตำรวจเน้นแก้ไขเป็นอันดับแรก ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 26.5 รองลงมาคือ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ร้อยละ 24.3 และปัญหาการสร้างสถานการณ์และความไม่สงบทางการเมือง ร้อยละ 11.8

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความเห็นเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับนโยบายของ ผบ.ตร. คนใหม่" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,134 คน เมื่อวันที่ 10-12 ก.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ